ธารา บัวคำศรี
ชีวิตฉันผูกพันกับธรรมชาติ (Connecting People to nature) คือประเด็น(theme)ของวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2560 ที่เวียนมาครบอีกวาระหนึ่งในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ โดยเชิญชวนให้ผู้คนทั้งหลายออกสัมผัสโลกกว้าง ซึมซาบความงามและตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติเพื่อปกป้องโลกที่เราอยู่อาศัยร่วมกัน
กิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 สองปีหลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ หรือเอิร์ธซัมมิทครั้งแรก (United Nations Conference on the Human Environment, 2515) เป็นต้นมา คนทั่วโลกร่วมเฉลิมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลกมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ดังนั้น มาดูกันว่า จริงๆ แล้วสถานการณ์ของ ธรรมชาติและระบบนิเวศที่ค้ำจุนชีวิตเราขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะออกไปชื่นชมและผูกพันกับธรรมชาติ
ผืนดินเปลี่ยน
ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 การขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ตลอดจนการพัฒนาสวนป่าเพื่อตอบสนอง ความต้องการไม้และกระดาษส่งแรงกดดันอย่างทวีคูณต่อโลก ในขณะที่เราได้ทำลายระบบนิเวศที่หลากหลายเพื่อนำพื้นที่ มาใช้ตามความต้องการของเรา แลกกับชีวิตสัตว์ป่าและพรรณพืช ผลคือผืนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กลายสภาพ เป็นทะเลทราย(desertification) ผืนดินกลายเป็นทรัพยากรหายากในบางประเทศ และหลายประเทศเริ่มเข้าไปลงทุน ในผืนดินอันห่างไกลเพื่อผลิตอาหาร และเชื้อเพลิงชีวภาพ ข้อมูลระบุว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของที่ดิน(Land)ซึ่งควบคุม โดยนักลงทุนต่างชาติอยู่ในเขตภูมิภาคด้านใต้ทะเลทรายซะฮาราของทวีปแอฟริกา
ร้อยละ 70 ของความหลากหลายของสัตว์ป่าและพรรณพืชบนบกอยู่ในเขตป่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบนิเวศป่าเขตร้อน องค์กรอนุรักษ์สากล(Conservation International) ระบุว่า มีจุดเสี่ยงภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity Hotspots) 35 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนั้นมีผืนป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดเสี่ยงภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Hotspots)เหล่านี้รวมกันแล้วครอบคลุมผิวโลกในส่วนที่เป็นผืนดินเพียงร้อยละ 3.2 แต่พบชนิดพันธุ์พืชมากกว่า ร้อยละ 50 และมีชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังบนบกทั้งหมดร้อยละ 42 พืชพรรณตามธรรมชาติสูญเสียไปมากกว่าร้อยละ 70 แล้ว
เขตอนุรักษ์ที่เป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 20 ของประเทศรวมถึง อุทยานแห่งชาติ 127 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 28 แห่งและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 67 การดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่าและพรรณพืชที่เหลืออยู่นี้จึงมิใช่เป็นเรื่องของ “การอนุรักษ์” เท่านั้น หากคือการปกป้องอนาคตของมนุษยชาติด้วย
ท้องทะเลป่วน
คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ประมาณครึ่งหนึ่งจะถูกดูดซับโดยทะเลและมหาสมุทรทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเล มีความเป็นกรดมากขึ้นซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่โลกไม่เคยประสบมาก่อนตลอดระยะเวลา 20 ล้านปีที่ผ่านมา และส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญในระบบนิเวศรวมถึงสัตว์จำพวกหอย ปะการังและแพลงก์ตอน การลดลงของสัตว์และพืชทะเล เหล่านี้จะเป็นเหตุของการพังทลายของข่ายใยอาหารในทะเล ภาวะที่เป็นกรดมากขึ้นจะจำกัดความสามารถของระบบนิเวศ ทางทะเลในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เนื่องจากการลดลงของสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ใช้คาร์บอเนตเป็นเปลือก
นอกจากมลพิษพลาสติกในทะเลที่เป็นปัญหาทั่วโลก มลพิษต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในทะเลและมหาสมุทรก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล สารประกอบอย่างไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่เป็นธาตุอาหารได้กระตุ้นกระบวนการยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication)โดยดึงเอาอ๊อกซิเจนออกจากน้ำจนเหลือศูนย์และสร้าง “แหล่งน้ำที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่(Dead Zone)” ข้อมูลระบุว่ามี dead zone 405 บริเวณตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก
ถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลก็ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ทะเลไทยมีปะการังรวม 400 สายพันธุ์ แนวปะการังทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมีพื้นที่รวมกันราว 153 ตารางกิโลเมตร ร้อยละ 40.3 ของพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ร้อยละ 60 ของสายพันธุ์ปะการัง มีปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงร้อยละ 50 ; ทะเลไทยมีหญ้าทะเล 12 สายพันธุ์ ครอบคลุมพื้นที่ 149.97 ตารางกิโลเมตร มีเพียงร้อยละ 35 ของพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง ชายฝั่งทะเลไทยมีไม้โกงกาง 35 สายพันธุ์ มีป่าชายเลน ครอบคลุมพื้นที่ 2,501.94 ตารางกิโลเมตร มีเพียงร้อยละ 7 ของพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง
แรงกดดันจากการประมงเกินขนาดนำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการจับปลาและสัตว์น้ำจากทะเลเพิ่มจาก 76 ล้านตัน เป็น 102.5 ล้านตัน ส่วนปลาและสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงเพิ่มจาก 5.5 ล้านตัน เป็น 69 ล้านตัน จีนมีส่วนแบ่งร้อยละ 60 ของการผลิตปลาและสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงทั่วโลก แม้ว่าจะช่วยตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่ก็นำมาซึ่งความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
อากาศแปดเปื้อน
มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในปี พ.ศ.2555 ประมาณ 3.7 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศ ราวร้อยละ 88 ของการเสียชีวิตดังกล่าวนี้อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางโดยที่ กลุ่มประเทศดังกล่าวนี้มีประชากรรวมกันร้อยละ 82 ของประชากรโลก ความต้องการใช้พลังงานและการคมนาคมขนส่ง ทำให้สถานการณ์มลพิษทางอากาศเลวร้ายลง
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า เมืองขนาดใหญ่ที่มีคนเกิน 10 ล้านคน (megacities)และขึ้นอยู่กับระบบเชื้อเพลิงฟอสซิล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี พ.ศ. 2593 เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี พ.ศ.2555
ความเป็นเมืองรุกล้ำและกลืนกินโลกธรรมชาติมากขึ้น ในปี พ.ศ 2550 คือจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์เมื่อประชากรบนโลกมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง มีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ.2593 เขตเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 175 เท่าของกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับการขยายตัวเมืองและประชากรเมือง ในกรุงเทพมหานคร ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 25 แห่ง มีพื้นที่รวมกัน 2,926 ไร่ มากกว่าสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 25 แห่งซึ่งมีพื้นที่รวมกัน 2,556 ไร่
คาดกันว่าภายในปี พ.ศ.2567 จะมีคนบนโลก 8 พันล้านคน และในปี พ.ศ.2593 จะมีมากกว่า 9 พันล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนบนโลกอาศัยอยู่ในวงกลมที่แรเงาด้านล่างนี้(ครอบคลุมเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก) ซึ่งมีการปะทะประสานสามเส้าระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมอย่างเป็นพลวัตรมากที่สุดของโลก

ที่มา : https://thetersetraveler.com/2015/05/06/its-a-small-densely-populated-world/
พื้นที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
เราจะผูกพันกับธรรมชาติอย่างไรท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมซึ่งกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อความก้าวหน้าทางสังคมของมนุษย์เอง Kate Raworth นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากสหราชอาณาจักรนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจโดนัท (Doughnut Economics) เพื่อตอบโจทย์อันย้อนแย้งนี้ โดยเป็นแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและ ปรับปรุงสภาพสังคมให้ดีขึ้นโดยเคารพข้อจำกัดทางนิเวศวิทยา
ขอบด้านนอกของโดนัทคือพรมแดนแห่งพิภพ(planetray boundaries)ซึ่งมี 9 ด้าน คือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) การใช้น้ำจืด(Freshwater Use) ปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัส(Nitrogen and Phosphorus Loading) การกลายเป็นกรดของมหาสมุทร (Ocean Acidification) มลพิษจากสารเคมี(Chemical Pollution) มลพิษในบรรยากาศ (Atmospheric Pollution) การลดลงของชั้นโอโซน(Ozone Depletion), การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity Loss) และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน(Land Use Change) เกินจากพรมแดนเหล่านี้ไปคือหายนะทางนิเวศวิทยาที่ไม่อาจรับได้
ขอบด้านในของโดนัทคือรากฐานทางสังคม 12 ด้านคือ สุขภาพ(Health) อาหาร(Food) น้ำ(Water) พลังงาน(Energy) การศึกษา(Education) รายได้/การงาน(Income/Work) สันติภาพ/ความยุติธรรม(Peace/Justice) สิทธิในการแสดงความคิดเห็น(Political Voice) ความเป็นธรรมทางสังคม(Social Equity) ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ (Gender equality) ที่อยู่อาศัย(Housing) และข่ายใยทางสังคม(Networks) การละเลยรากฐานเหล่านี้นำมาซึ่งความทุกข์ยาก และความโกลาหลอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในสังคมมนุษย์

ที่มา : ดัดแปลงจาก https://www.kateraworth.com/doughnut/
ระหว่างขอบด้านนอกและด้านใน(ของโดนัท) คือ พื้นที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับมนุษยชาติและระบบเศรษฐกิจแบบ กระจายศูนย์และฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้ ที่เอื้อให้มนุษย์ผูกพันกับธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น(ความเป็นธรรมทางสังคม) จากเรื่องเล็กๆ ที่ทำด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นการลดขยะ ปลูกพืชผักสวนครัว ฉลาดใช้พลังงาน การเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การศึกษาธรรมชาติ ฟื้นฟูป่าไม้ ฯลฯ ไปจนถึงปฏิบัติการขับเคลื่อนร่วมมือกับผู้คน กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและอนาคตที่เราต้องการร่วมกัน
อ่านเพิ่มเติม
- Tony Juniper, “What’s really happening to our planet? The facts simply explained”, Penguin Random House, 2016.
- Thailand’s Sustainable Development Sourcebook 2016.