บทความนี้เรียบเรียงจากการบรรยายในการประชุมสัมนาเรื่องวิทยาศาสตร์นานาชาติและการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์  ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ เมื่อวันที่  8 – 12 มิถุนายน 2539 โดย ดร. พอล คอนเนทท์ 

พอล คอนเนทท์ เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเซนต์ลอเรนซ์ เมืองแคนตัน นิวยอร์คตั้งแต่ปี 2526 ได้รับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และปริญญาเอกทางเคมีจากดาร์ทเมาท์คอลเลจ หลังจากปี 2528 เขาทุ่มเททำการวิจัยเรื่องการจัดการของเสียโดยเฉพาะประเด็นทางวิชาการที่เกี่ยวกับการปล่อยสารพิษไดออกซินจากโรงงานเผาขยะซึ่งมีผลต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ ดร.พอล เข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติเรื่องไดออกซินหลายต่อหลายครั้ง และทำงานร่วมกับทอม เวบสเตอร์ เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด 6 ฉบับ ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ในวารสาร “Chemosphere” เขายังได้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการกากของเสียในรูปแบบที่หลากหลายให้กับชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้ไปแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาแล้วกว่า 1500 ครั้งใน 48 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา และในประเทศอื่น ๆ อีก 40 ประเทศทั่วโลก  และ ดร. พอล ทำงานกับเอลเลน ผู้เป็นภรรยา ออกจดหมายข่าวรายสัปดาห์ชื่อ Waste Not เป็นระยะเวลานานถึง 12 ปี เขายังทำงานร่วมกับนายโรเจอร์ ไบลีย์ - เพื่อนซึ่งเป็นศาสตราจารย์คณะวิจิตรศิลป์ของมหาวิทยาลัย เซนต์ลอว์เรนซ์ ผลิตวิดีโอเทป 40 เรื่องซึ่งล้วนเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงวีดิทัศน์(10 ม้วน)เกี่ยวกับสารพิษไดออกซิน ดร. พอล มีบทบาทสำคัญในการทำงานกับชุมชนระดับรากหญ้ากว่า 300 แห่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งคัดค้านโครงการโรงเผาขยะ จนทำให้โครงการเหล่านั้นยกเลิกไป

ราล์ฟ เนเดอร์ นักรณรงค์สิทธิผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึง ดร. พอล ว่า “เขาเป็นคนเดียวที่ผมรู้จักที่สามารถทำให้เรื่องขยะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ”

ปีนั้นตรงกับพุทธศักราช 2653 เป็นเวลาสามวันแล้วที่เขาเดินทางข้ามเมืองนี้ด้วยยานพาหนะเพียงชนิดเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ สองขาที่อ่อนล้า เขามิได้พานพบมนุษย์ที่ยังมีลมหายใจเลยแม้แต่คนเดียว  มีเพียงซากปรักหักพัง ลำคอของเขาแห้งผากกระหายน้ำ พลางครุ่นคิดว่าเขาจะไปได้อีกนานเพียงใด  ดวงตาพร่าแทบจะบอดลงด้วยแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นผิวแวววาวเหมือนกระจกบนตึกสูงลิบลิ่วแห่งหนึ่ง  เมื่อเข้าไปใกล้มากขึ้น เขาพบว่าที่ฐานของอนุสาวรีย์รูปร่างแปลกประหลาดจารึกไว้ดังนี้

“พวกเขาหลงผิดแลถลำลึกลงทุกขณะในการตอบคำถามที่ผิด”

ย้อนกลับมายังปัจจุบัน ผมเชื่อว่าพวกเราจักต้องระบุประเภทคำถามที่ถูกต้อง หากว่าอารยธรรมความเจริญรุ่งเรืองเป็นดังที่พวกเรารู้จัก จะรอดพ้นและดำเนินไป ณ ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด

ในบทความนี้  ความวิตกกังวลห่วงใยหลักของผมคือการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย  เราอาจใช้เวลามากมายถกเถียงว่าอะไรผิดกันแน่ระหว่างประชากรล้นโลกกับการบริโภคอย่างล้นเหลือ  แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องสำคัญ  ถ้าทั้งสองปัญหาต่างทบทวีคูณ  ประชากรโลกมากขึ้นและมากขึ้น  และมุ่งที่จะบริโภคมากขึ้นและมากขึ้น

ในทัศนะของผมนั้น  ความเจริญด้านเทคโนโลยีก้าวล้ำความเจริญของสังคม  ด้วยการกดปุ่มเคาะแป้นเพียงสองสามทีเท่านั้นเราก็สามารถสนทนากับผู้คนรอบโลกได้  ก่อนที่เราจะเชี่ยวชาญในศิลปะการสื่อสารกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง  พวกเราแข่งขันกันเร็วขึ้นและเร็วขึ้น  จากที่จอดรถแห่งหนึ่งไปยังลานจอดรถอีกแห่งหนึ่ง    พวกเราฝ่าฟันดิ้นรนเพื่อที่จะกลับไปจมอยู่กับโซฟาและจ้องดูคนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของจอพลาสติก  เราซื้อวัตถุมากขึ้นและมากขึ้นเพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าของอาคารบ้านเรือนที่เราไม่ได้สร้าง  เพื่อเติมเต็มชีวิตที่ปราศจากความสัมพันธ์กับคนรอบตัว  ครอบครัวเดี่ยวกลายเป็นหน่วยการซื้อในอุดมคติ  โบสถ์ใหญ่คือห้างสรรพสินค้า  และหนทางไปสู่ขุมนรกถูกแผ้วถางด้วยนวัตกรรมชั้นยอด

บางทีสุดยอดอันตรายแห่งการคิดค้นเท่าที่พวกเราเคยผ่านพบมานั้นอาจจะเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญซึ่งยึดถือระบบคุณค่าเหมือนกัน  เนื่องด้วยมันเป็นเรื่องยากสำหรับใครก็ตามในกลุ่มที่จะท้าทายคุณค่าร่วมนั้น แท้จริงแล้ว อันตรายซ่อนเร้นอยู่ในข้อเท็จจริงของการเทิดทูนค่านิยมร่วมอันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น มิใช่เรื่องง่ายที่จะตั้งคำถามต่อวิถีที่เรามองโลก พวกเรามิได้สำเนียกถึงแว่นตาที่เรามองผ่านว่ามันมีอยู่ จนกระทั่งมันแตกร้าวหรือพร่ามัวลง

ผมกำลังพูดถึงกระบวนทัศน์ของพวกเรา ในหนังสือเรื่อง ประชากรของโลก (The Global Citizen) ของโดเนลลา  มีโดว์ (Donella Meadows) หนึ่งในนักเขียนเรื่อง ข้อจำกัดในการเจริญเติบโต ( Limit to Growth)  เสนอข้อสมมุติฐาน 17 ประการในมุมมองของเธอ  ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างถ่องแท้ถึงกระบวนทัศน์ในปัจจุบันของพวกเรา ผมขอสรุปกระบวนทัศน์ที่ว่าดังนี้ :

“เราอาศัยอยู่บนดาวโลกนี้  ประหนึ่งว่าเรามีดาวโลกอีกดวงที่จะอพยพไปอยู่ใหม่”

กระบวนทัศน์ดังกล่าวนี้เป็นกระบวนทัศน์ร่วมของบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดบนโลก  จากประธานาธิบดีของประเทศต่างๆ  จนถึงผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทหลายประเทศ  การเติบโตทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับทุกปัญหาทั้งด้านสังคมและด้านนโยบาย  เรามีแม้กระทั่งรางวัลโนเบลสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีหลักการและเหตุผลที่พูดถึงการดำรงชีวิตอยู่ด้วย “ทุน” (capital :ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดใช้แล้วหมดไป) มากกว่าการดำรงอยู่ด้วย “รายได้” (income: ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถสร้างขึ้นทดแทนใหม่ได้)  ในขณะที่ยังมีความห่วงใยต่องบประมาณของโลก  เหล่าประธานาธิบดีสามารถพูดเกี่ยวกับ “ระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์” เช่นเดียวกับการยอมรับ “สินค้า” โดยปราศจากความแปลกแยกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเร่งการบริโภคทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง “จำกัด”  อย่างสุรุ่ยสุร่าย  หรือมีการเร่งเตือนให้โลกได้ตระหนักทันท่วงที

เส้นด้ายของเอเรียดเน(Ariadne’s Thread)

ผมเห็นว่า  แผนภูมิซึ่งได้จากหนังสือของแมรี่ คล๊าก (Mary E. Clark) เรื่อง เส้นด้ายของเอเรียดเน(Ariadne’s Thread) ควรจะติดอยู่บนผนังห้องเรียนทุกห้องในโลก เช่นเดียวกับห้องที่เรากำลังอยู่นี้ ในทำเนียบประธานาธิบดีของทุกประเทศ  และบนป้ายติดประกาศของหน่วยงานทุกองค์กร แผนภาพแสดงอัตราปริมาณการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกในช่วงระยะเวลา 10,000 ปี ณ เวลาปัจจุบันที่ 0 ปี จากจุด X บนเส้นโค้งดูเหมือนว่าจะไม่มีสิ่งใดผิดปกติ  ย้อนกลับจากจุด X ดูเหมือนว่า X จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  และเมื่อมองต่อไปในอนาคตดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยากทีเดียว

ในมหาวิทยาลัยของเรา  ศาสตราจารย์บางคนสามารถทำให้นักศึกษาร่ำไห้ได้ด้วยบทละครที่เขียนขึ้นจาก 2,000 ปีที่แล้ว  หรือด้วยซิมโฟนีซึ่งรังสรรค์ขึ้นเมื่อสองสามร้อยปีก่อน  แต่จะเป็นเรื่องยากเย็นมาก ที่พวกเขาจะหลั่งน้ำตาแด่ผู้คนในโลกอนาคตที่ประสบความลำบากยากเข็ญจากการดำรงชีวิตโดยปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล   ภาพลวงตาที่ว่ามีเชื้อเพลิงฟอสซิลอันอุดมสมบูรณ์นั้นสนับสนุนให้เกิดการใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ ในวิถีชีวิตของเรา  ในทัศนะของผมนั้น  ก่อให้เกิดการเกษตรกรรมที่เป็นพิษ  ระบบการขนส่งคมนาคมที่ไร้ประสิทธิภาพ  และการใช้วัตถุดิบสิ้นเปลืองโดยไม่ยั้งคิด  กล่าวโดยสั้นๆ ว่ามีการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยและต่อเนื่อง  แผนภาพนี้ยังเป็นเหมือนเลนส์ที่ช่วยส่องขยายให้เห็นว่าเรามองโลกอย่างไร

แผนภาพการประเมินการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกโดยฮับเบิร์ต (Hubbert) แสดงด้วยช่วงเวลา 10,000 ปี  จะใช้เวลาเพียง 5 ศตวรรษที่จะบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด

ทัศนะส่วนตัวของผมถูกขีดข่วนด้วยประเด็นเรื่องการกำจัดขยะของเทศบาล  มีการเสนอให้สร้างเตาเผาขยะในเมืองของเราในตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ค  ด้วยเรื่องนี้เองทำให้วิธีการที่ผมมองโลกเปลี่ยนไป    จากการศึกษาเอกสารโครงการทำให้ผมช็อค  โครงการนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติอย่างเสแสร้งยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตด้วยการปลดปล่อยสารพิษที่ตกค้างยาวนานอย่างไดออกซินจำนวนมากสู่สิ่งแวดล้อม  โครงการดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงแนวทางการตั้งคำถามพื้นฐานเรื่องวิธีการรับมือกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด  นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับวิธีการที่หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และระดับชาติแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์และสังคมที่ดำรงอยู่ 

ประเด็นนี้เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อชีวิตและอาชีพของผมมากทีเดียว  เรื่องไดออกซินมีผลต่อเอกสารหลายฉบับที่ผมมีส่วนร่วมในการเขียน   และความวิตกกังวลของผมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องขยะมีผลต่อชุมชนที่ผมมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาอยู่  –เป็นชุมชนใหญ่ทีเดียว  คือ กลุ่มประชาชนท้องถิ่นในระดับรากหญ้ามากกว่า 30 ประเทศ  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกระบวนการนี้จะสามารถช่วยเรา  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยคณะกรรมการการศึกษาวิทยาศาตร์ในการพิจารณาอนาคตการศึกษาวิทยาศาสตร์โดยทั่วๆ ไป

คำถามประเภทไหนที่นักวิทยาศาสตร์ควรถามเพื่อที่จะอนุญาตให้เราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาจำพวกไดออกซินได้? ผู้ตัดสินใจและกำหนดนโยบายควรตั้งคำถามประเภทไหนเพื่อที่จะอนุญาตให้เราหลบเลี่ยงจากวิกฤตการณ์ขยะ?  คำถามประเภทไหนที่พวกเราทั้งหมดจำเป็นต้องถามเพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืน?  เป็นเรื่องง่ายที่จะตั้งคำถามหลังจากที่เกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว  ทำอย่างไรที่เราจะเรียนรู้และการตั้งคำถามขึ้นก่อนในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงดำเนินไปอย่างราบรื่นปกติสามัญ ?

ไดออกซิน

ไดออกซินเป็นชื่อเรียกที่หมายรวมถึงสารประกอบสองตระกูลที่เรียกว่า โพลีคลอริเนต ไดเบนโซ ไดออกซิน (PCDDs) และโพลีคลอริเนต ไดเบนโซ ฟิวราน (PCDFs) สารเคมีที่จัดอยู่ในสองตระกูลนี้มี 210 ชนิด  ซึ่งรวมถึงสาร 17 ชนิดที่มีความเป็นพิษมากที่สุดเท่าที่เคยมีการผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ  ถ้าเป็นกรณีที่สารเหล่านี้เคยเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์  ก็อาจจะถูกสั่งห้ามผลิตหลายปีมาแล้ว  แต่เคราะห์ร้ายอยู่ที่ว่าสารพิษซึ่งไม่เป็นที่ต้องการเหล่านี้เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีอำนาจสูง  รวมทั้งอุตสาหกรรมกระดาษ (ไดออกซินเกิดขึ้นจากกระบวนการฟอกสีกระดาษด้วยคลอรีน)  อุตสาหกรรมเคมี (ไดออกซินเกิดขึ้นขณะมีการสร้างสารประกอบอินทรีย์คลอรีน organochlorine จำนวนมาก)  และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเผา (ไดออกซินถูกผลิตขึ้นระหว่างที่สารประกอบอินทรีย์คลอรีนถูกเผาไหม้)

นักวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมมีข้อโต้แย้งว่า  ไดออกซินก่อเกิดและอยู่กับพวกเรานับตั้งแต่การค้นพบไฟ  และในขณะที่ไดออกซินเป็นพิษร้ายแรงต่อสัตว์นั้น  หาได้เป็นอันตรายมากมายนักเพราะร่างกายของมนุษย์มิได้เปราะบาง(อย่างสัตว์)

อย่างไรก็ตาม  หน่วยงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา  (The U.S. Environmental Protection Agency US EPA) แสดงความไม่เห็นด้วย   ในเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในเดือนกันยายน ค.ศ 1994  หลังจากการตรวจเอกสารเรื่องไดออกซินอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นระยะเวลา 3 ปี  โดยนักวิทยาศาสตร์ภายในหน่วยงานและนักวิจัยชั้นนำเรื่องไดออกซินจากทั่วโลก  US EPA สรุปว่า ผลกระทบของสารพิษไดออกซินนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าความคิดดั้งเดิมของเรา ร่างกายของประชากรอเมริกันโดยเฉลี่ยได้รับไดออกซินอันเป็นปัจจัยหนึ่งในสิบประการที่จะต้องเฝ้าดูผลกระทบ 

ไดออกซินมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะจากการเผาขยะ

ดร.ลินดา  บรินแบม (Dr. Linda Birnbaum) นักวิทยาศาสตร์ของ US EPA และเป็นผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพ  สำนักงานวิจัยและพัฒนา  แทบจะไม่ให้ความเชื่อถือต่อความคิดเห็นอันโง่เขลาที่ว่ามนุษย์มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อไดออกซินแตกต่างจากสัตว์  เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  กลไกปฏิกิริยาของไดออกซินต่อมนุษย์และสัตว์ล้วนเป็นเช่นเดียวกัน6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่มีวิวัฒนาการเหนือระดับปลาไร้กระดูก  ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวประกอบด้วยโปรตีนตัวรับ ( the Ah receptor)   ซึ่งไดออกซินปรารถนาจะประกบตัวมันเข้ากับโปรตีนนี้แล้วแทรกซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อของเรา  ข้อเท็จจริงที่ว่าโปรตีนตัวรับนี้สามารถรวมตัวอย่างรวดเร็ว  มีวิวัฒนาการและมีชีวิตรอดอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตต่างชนิดได้  แสดงให้เห็นว่าเป็นโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญมากและเป็นบทบาทพื้นฐานในกระบวนการชีววิทยา

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังมิได้จำแนกสารธรรมชาติทั้งหมดที่สามารถผนึกเข้ากับโปรตีนตัวรับดังกล่าว  แต่เราทราบแน่นอนว่าเมื่อไดออกซินถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและผนึกติดกับโปรตีนตัวรับแล้ว  จะเคลื่อนย้ายเข้าสู่นิวเคลียสแล้วประกบตัวเข้ากับหน่วยพันธุกรรม (DNA) ส่งผลให้ยีนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้  จากผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์โปรตีนที่แตกต่างในเซลล์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีขึ้น  จากนั้น ไดออกซินจะทำหน้าที่เสมือนกับฮอร์โมนปกติชนิดที่สามารถละลายในไขมันได้

ฮอร์โมนเป็นผู้นำส่งสารเคมีซึ่งทำหน้าที่ส่งข้อมูลจากต่อมต่างๆ ซึ่งสร้างฮอร์โมนนั้น (ต่อมไร้ท่อ) ไปยังเนื้อเยื่อเฉพาะที่ซึ่งต่อมดังกล่าวควบคุมปฏิกิริยาเคมี  ปัญหาที่เกิดขึ้นกับไดออกซิน คือจะมีการส่งสารเคมีผิดชนิด (หรือสารเคมีถูกต้องแต่ผิดเวลา) เป็นสาเหตุให้เกิด “การควบคุมที่ผิดพลาด” ของเคมีสารภายในเซลล์เนื้อเยื่อ  เป็นเรื่องเคราะห์ร้ายมากเหลือเกิน  เพราะการทำหน้าที่ของฮอร์โมนที่มีความเข้มข้นของสารซึ่งเลียนแบบฮอร์โมนธรรมชาติซึ่งมีอำนาจมากด้วยปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (จากระดับ micromolar เป็น picomolar) ก็สามารถรบกวนและทำให้ระบบการส่งสารยุ่งเหยิงได้แล้ว

ดร. บรินแบม เรียกไดออกซินว่าเป็นสารที่ทรงอำนาจในการสร้างการควบคุมที่ผิดพลาด จากการศึกษาของเราในอดีต พบว่าไดออกซินส่งผลกระทบได้หลายระดับต่อฮอร์โมนหลายชนิด รวมทั้งฮอร์มโมนเอสโตรเจน  เทสโตสเตอโรน  อินซูลิน กลูโคคอร์ติคอยด์ และไทรอยด์  สิ่งที่เพิ่มความวิตกกังวลมากขึ้นไปอีก คือข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อไดออกซินแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น  ระบบการกำจัดสารพิษปกติของเราไม่มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะกำจัดออกได้

ไดออกซินเป็นสารที่ตกค้างทนทานมาก  ครึ่งชีวิตของมันคือ 7 ปีในรูปสารที่ละลายได้ในไขมันฝากฝังตัวเองไว้ภายในเนื้อเยื่อไขมันของเรา  และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตลอดชีวิตเรา  ผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชาย  พวกเธอที่มีวิธีการกำจัดสารละลายในไขมัน  ซึ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์  แรกทีเดียวไดออกซินจะเคลื่อนย้ายจากไขมันของแม่ส่งต่อผ่านสายรกไปยังตัวอ่อน  จากนั้นหลังคลอดแล้ว  ไดออกซินจำนวนมากขึ้นจะเคลื่อนย้ายจากแม่ไปยังลูกผ่านทางน้ำนม  ดังนั้น สารพิษปริมาณสูงที่สุดที่ส่งผลต่อการควบคุมที่ผิดพลาดต่อเคมีสารในสิ่งมีชีวิตจึงสะสมอยู่ในเด็กทารกของพวกเรา

ผมมีความเห็นว่า เอกสารที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดพิมพ์เผยแพร่ในเรื่องไดออกซินนั้นคือข้อเขียนในวารสารเดอะ แลนเซท (THE LANCET) ซึ่งเป็นวารสารด้านการแพทย์ของอังกฤษ  ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ 1992  ในรูปของจดหมายจากนักวิทยาศาสตร์ชาวดัชต์ 8 คน

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ตรวจสอบเนื้อเยื่อไทรอยด์ของทารกที่กำเนิดจากผู้หญิงจำนวน 38 คนในฮอลแลนด์  พวกเขาจัดเด็กทารกออกเป็นสองกลุ่ม  กลุ่มแรกมารดามีภูมิหลังว่าน้ำนมมีปริมาณไดออกซินสูง  และกลุ่มที่น้ำนมมีปริมาณไดออกซินต่ำ  ค่าเฉลี่ยอัตราส่วนความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มประมาณ 2:1  (37.5 และ 18.6 ppt .ในไขมันนม)  นักวิจัยแสดงให้เห็นว่าทารกสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของเนื้อเยื่อไทรอยด์  เป็นเอกสารฉบับแรกที่แสดงให้เห็นว่าระดับของไดออกซิน อาจเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในมนุษย์

จากการศึกษาดังกล่าว  โดยใช้วิธีการเดียวกันแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของการพัฒนาตรรกประสาทในทารกแรกเกิดว่ามีความสัมพันธ์กับระดับของไดออกซิน (และโพลีคลอรีเนตไบเฟนนีล) เมื่อมีการวินิจฉัยก่อนและหลังคลอด8  ข่าวดี คือความรุดหน้าของเยอรมันและฮอลแลนด์  ซึ่งระบุว่าไดออกซินที่แทรกซึมในสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนระดับไดออกซินในน้ำนมวัวและน้ำนมมนุษย์ลดปริมาณลง  เราได้แต่หวังว่าการลดลงนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน  มีข้อบ่งชี้ว่าไดออกซิน ฟิวเรนและ(ส่วนที่สัมพันธ์ใกล้เคียง) PCBs เป็นเพียงยอดเล็กๆ ของภูเขาน้ำแข็งอันใหญ่โตมโหฬารของสารเคมีสังเคราะห์ซึ่งรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในช่วงต้นของชีวิตมนุษย์  หนังสือเล่มล่าสุดของธีโอ  คอลบอร์น (Theo Colborn) และคณะ เรื่อง อนาคตที่ถูกช่วงชิง (Our Stolen Future) ระบุรายชื่อสารเคมีมากกว่า 50 รายการ ซึ่งผสมอยู่ในสารกำจัดศัตรูพืช  พลาสติก  ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์อื่นๆ สารเหล่านี้มีการเลียนแบบหรือรบกวนการทำงานของฮอร์โมน

ผู้เขียนตั้งสมมติฐานว่า สารเคมีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการสืบพันธุ์และประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด  และมีส่วนสร้างปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงต่อมนุษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาตั้งคำถามต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของมะเร็งเต้านม  มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลูกอัณฑะ  ตลอดจนถึงการลดลงของปริมาณเชื้ออสุจิ  ซึ่งปรากฎในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศนับตั้งแต่ ปีค.ศ. 1940 บางส่วนอาจจะอธิบายได้ว่าเกิดจากการรบกวนของฮอร์โมนเลียนแบบเหล่านี้ต่อการพัฒนาด้านการสืบพันธุ์ของมนุษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะตัวอ่อนในครรภ์

ดังนั้น คำถามประเภทไหน  ซึ่งการตั้งคำถามในเวลาที่ถูกต้องอาจจะเบี่ยงเบนภัยอันตรายเหล่านี้?  ด้วยการเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตเราสามารถแนะนำสิ่งเหล่านี้ได้

เมื่อธรรมชาติมิได้สร้างสารที่ตกค้าง (ทั้งภายในร่างกายและในระบบนิเวศ  ยุทธศาสตร์คือ การสร้างขึ้นและการทำลายส่วนของโมเลกุล)  ควรหรือที่เราจะไม่ระมัดระวังต่อการนำสารตกค้างปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะสารที่สามารถละลายในไขมันได้  และสะสมในร่างกายสิ่งมีชีวิตและถ่ายทอดถึงกันในห่วงโซ่อาหาร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปกว่านั้น  เมื่อธรรมชาติมิได้ก่อให้เกิดพันธะคาร์บอน-คลอรีนของอินทรีย์เคมีในแม่น้ำ (พบในหญ้าทะเล ราและพืชบางชนิด แต่พันธะนี้ไม่ปรากฎในสัตว์บกที่เลี้ยงลูกด้วยนม)  สมควรหรือที่เราจะไม่ระมัดระวังการใช้คลอรีนในอุตสาหกรรม?  ปัจจุบัน โลกผลิตคลอรีนปีละ 40 ล้านตันและส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการผลิตสารเคมีจำพวกตัวทำละลาย  สารกำจัดศัตรูพืชและพลาสติกโพลีวินีลคลอไรด์ (PVC)  สารประกอบอินทรีย์คลอรีนส่วนใหญ่เป็นสารที่ละลายได้ในไขมันและมีพิษตกค้างได้นานแสนนานในสิ่งแวดล้อม  คอลบอร์นและคณะระบุว่าจากการวินิจฉัยสารที่ขัดขวางต่อมไร้ท่อมากกว่าครึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์คลอรีน

การอบรมทางวิทยาศาสตร์ประเภทไหนที่ควรจะมี  เพื่อการตระเตรียมนักวิทยาศาสตร์ให้ตั้งคำถามเหล่านี้ก่อนเกิดภัยพิบัติแทนที่จะตั้งคำถามเมื่อความหายนะมาเยือน?  เราจะสอนให้นักเรียนวิทยาศาสตร์มี “สติปัญญา” เช่นเดียวกับที่มีความ “เฉลียวฉลาด” ได้อย่างไร?   สิ่งหนึ่งที่เป็นความแตกต่างระหว่าง “สติปัญญา” กับ “ความเฉลียวฉลาด”  คือ ความแตกต่างของช่วงเวลาที่เราใช้ตัดสินระหว่างความสำเร็จของผลลัพธ์  เป็นไปได้หรือไม่ที่วิทยาศาสตร์พื้นเมือง (ภูมิปัญญาท้องถิ่น)จะหนุนช่วยให้วิทยาศาสตร์ตะวันตกตระหนักต่อคำถามเหล่านี้?  ควรที่ใครสักคนจะวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น “เจ็ดชั่วโคตร” ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งที่เรียกว่า “ตกค้าง”หรือไม่?

จากความผิดพลาดที่แล้วมานำไปสู่การใคร่ครวญพินิจพิจารณาอนาคต  เราอาจจะตั้งคำถามว่าอุตสาหกรรมเคมีที่ยั่งยืนควรจะเป็นอย่างไร?  การที่กลุ่มประเทศทางตอนใต้พัฒนาอุตสาหกรรมเคมีขึ้นนั้น  เป็นการลอกเลียนแบบกระบวนการผลิตที่สกปรกและผลิตภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือยจากเราใช่หรือไม่?  ประเทศเหล่านี้จะผลิตสารเคมีที่พวกเราไม่อนุญาตให้มีการผลิตอีกต่อไปกระนั้นหรือ?  หรือพวกเขาจะก้าวกระโดดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดปลอดภัย?  แต่โชคคงไม่เข้าข้างเรานัก  จากการที่ผมไปเยี่ยมคอมเพล็กซ์เคมีใน Gujarat ประเทศอินเดีย ไม่มีคำตอบเบื้องต้นต่อคำถามเหล่านี้เลย

การจัดการขยะ

การจัดการขยะเป็นอีกหน้าหนึ่งของสังคมที่ถูกละเลยและตามมาด้วยการตั้งคำถามที่ผิดพลาด ในมุมมองของผม  ปัญหาเบื้องต้นของการปล่อยให้นักเทคโนโลยีและนักเศรษฐศาสตร์กำหนดอนาคตของเราบนโลกที่มีทรัพยากรอย่างจำกัดคือ พวกเขาดูจะประทับใจกับระบบสังคมที่เป็นระนาบเส้นตรง  ซึ่งแท้จริงแล้วทำหน้าที่และมีวัฎจักรที่เป็นวงกลม ความคิดเห็นของบุคคลกลุ่มนี้ในเรื่องการพัฒนาคือ เป็นกระบวนการที่นำวัตถุดิบมาแปรรูป  ผ่านกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์และส่งต่อไปสู่ผู้บริโภค

กระบวนการบริโภคนี้ถูกกระตุ้นเป็นอย่างมาก  และผมควรจะพูดว่ามันเร่งเสียยิ่งกว่าการกระตุ้น – คือโดยการโฆษณา  และจากนั้นก็กลายเป็นขยะ  คำจำกัดความของพวกเขาต่อกระบวนการดังกล่าว คือ จะสามารถเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นขยะได้รวดเร็วเพียงใด!

จากจุดนี้พวกเราโทรศัพท์ถึง “ผู้เชี่ยวชาญ”และตั้งคำถามที่ฟังดูไร้เดียงสา  แต่ทว่าเป็นคำถามที่ชั่วร้าย  คำถามที่เลวมีผลลัพธ์ย่ำแย่ถึง 100 ปี  เราตั้งคำถามว่า “พวกเราควรจะทิ้งขยะที่ไหน?”  ไม่เพียงแต่ตั้งคำถามนี้ขึ้นในห้วงที่มีการทุ่มเทเวลา เงิน และทรัพยากร จำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ยังเป็นคำถามที่ตั้งขึ้นในช่วงที่เห็นผลลัพธ์อันไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการข่มเหงสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์และสิทธิมนุษยชน

คำถามที่ว่า “เราควรจะทิ้งขยะที่ไหน?”  นำไปสู่คำตอบใดคำตอบหนึ่งระหว่างหลุมที่อยู่ใต้ผืนแผ่นดินหรือในหลุมของเครื่องจักร : ระหว่างการฝังกลบหรือโรงงานเผาขยะ  น้อยคนนักจะต้องการพักอาศัยใกล้ชิดติดกับหลุมฝังกลบขยะหรือใกล้โรงงานเผาขยะ  ชุมชนดำเนินการต่อต้านทั้งหลุมฝังกลบและโรงงานเผาขยะ  ผู้กำหนดนโยบายมองหาพื้นที่สักแห่งสำหรับรองรับหลุมฝังกลบหรือสร้างโรงงานเผาขยะ  และผลการค้นหาที่ว่าจะนำไปสู่พื้นที่สักแห่งที่จะใช้สำหรับโถมทิ้งขยะ  มักจะเป็นพื้นที่ที่มีแต่คนยากจนที่อ่อนแอเสมอ  ช่างเป็นการสร้างสถานการณ์ที่เลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างอยุติธรรม  การส่งขยะออกนอกประเทศนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ของบุคคลกลุ่มหนึ่ง

ตัวอย่างที่ฟังดูน่าหัวร่อแลไร้สาระนี้เป็นไปได้อย่างไรนั้นคือ มีบริษัทของอเมริกันพยายามผลักดันการสร้างโรงงานเผาขยะใน Khulna ประเทศบังคลาเทศเพื่อรองรับและใช้เผากำจัดขยะที่ส่งไปจากเมืองนิวยอร์ค!  โชคดียังมีอยู่มาก ที่นักเคลื่อนไหวในท้องถิ่นได้รณรงค์ให้ยกเลิกโครงการนี้

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คำนึงถึงความอยุติธรรมของการก่อกรรมทำเข็ญสงครามขยะ มีเพียงชุมชนที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามนี้เท่านั้นที่จะมองเห็นวิถีทางที่ “คอมเพล็กซ์อุตสาหกรรมที่เป็นระเบียบเป็นเพียงอุบายที่สำหรับบีบบังคับให้ “การแก้ปัญหาขยะ” ที่ไม่มีใครต้องการ  การทำเช่นนี้ได้ กลุ่มคนเจ้าเล่ห์ผู้ได้รับผลตอบแทนสูงมากในนามของที่ปรึกษา  ผู้กำกับดูแล นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญอุปกรณ์โรงงาน  และผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์  ในสมองของบุคคลเหล่านี้ย่อมมีความสามารถพิเศษในการปิดบังซ่อนเร้นประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้คลุมเครือ  รวมถึงการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและการจัดเวทีสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผิดเพี้ยนที่ดำเนินไปนี้  ชุมชนหลายชุมชนรอบโลกสามารถต่อสู้ผลักดันสถานการณ์ที่เลวร้ายออกไปจากชุมชน  ตัวอย่างเช่น  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 สหรัฐอเมริกาต้องยกเลิกโครงการโรงงานเผาขยะมากกว่า 300 แห่ง  อันเป็นผลมาจากการคัดค้านของสาธารณะชน

เหตุผลที่ “ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะ” จำนวนมากตั้งคำถามที่ผิดนั้น  เป็นเพราะพวกเขาคิดอย่างกลับทิศทาง  ผมเรียกพวกเขาว่านักคิดปลายเหตุ  ผมมีเรื่องสั้นๆ ที่จะเล่าให้ฟังเพื่อเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นของเหตุการณ์การคิดแบบปลายเหตุ  นึกภาพนักคิดปลายเหตุคนหนึ่งเดินทางกลับบ้านหลังจากเลิกงาน  เขาพบว่าอ่างอาบน้ำมีน้ำล้นอยู่  อันตราย!  เขาคว้าถ้วยใบหนึ่งอย่างรวดเร็วเพื่อวิดน้ำออกจากอ่างอาบน้ำ   แต่แล้วเขาฉุกคิดว่านี่ยังไม่เร็วเพียงพอ ดังนั้นเขาจึงฉวยเอาตะกร้ามาแทน  อีกครั้ง เขาคิดว่ายังไม่เร็วพอ ดังนั้นเขาจึงไปที่ปั๊มแบบใช้เท้า  แต่ทว่าแม้แต่ปั๊มเท้าเหยียบยังคงเร็วไม่พอในความคิดของเขา ดังนั้นเขาจึงไปที่ปั๊มน้ำไฟฟ้า  และใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงาน ทั้งหมดนี้ทุ่มเทไปเพียงเพื่อวิดน้ำออกจากอ่างอาบน้ำก่อนที่น้ำจะสร้างความเสียหายให้กับพื้นห้อง  ตรงจุดนี้ ภรรยาของเขากลับถึงบ้านและจัดการปิดก๊อกน้ำ  เธอเป็นพวกนักคิดแบบแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  ไอสไตน์อธิบายสถานการณ์แบบนี้เมื่อครั้งหนึ่งว่า “คนฉลาดแก้ปัญหา  คนมีปัญญาเลี่ยงปัญหา”

ที่ปลายเหตุของปัญหาขยะ  พวกเรามีวิศวกรผู้ฉลาดหลักแหลมมากมายที่สร้างสรรงานออกแบบท่อพลาสติกสำหรับหลุมฝังกลบขยะ  และกลไกที่มีระบบซับซ้อนเพื่อควบคุมมลภาวะทางอากาศสำหรับโรงงานเผาขยะ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราประยุกต์การคิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุสำหรับวิกฤติการณ์ขยะ  เราต้องตระหนักว่าคำถามไม่ใช่ “เราจะทิ้งขยะที่ไหน?”  แต่ว่าคำถามควรจะเป็น “ทำอย่างไรที่เราจะไม่สร้างขยะ?”

กุญแจสำหรับไขปัญหาไม่ใช่การจัดการขยะ แต่คือการจัดการทรัพยากร – พอล คอลเนทท์

เราสามารถนำวัสดุทั้งหมดมาใช้ใหม่ได้ในรูปแบบต่างๆ กัน; วัสดุสังเคราะห์หมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบการผลิตในโรงงาน  และวัสดุจากสิ่งมีชีวิตย้อนคืนสู่ธรรมชาติ (ด้วยกระบวนการย่อยสลาย)  และสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ เราสามารถลดละความต้องการที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นลง  ดังที่มหาตมะคานธีกล่าวว่า “โลกมีพอเพียงต่อความจำเป็นของมนุษย์ทุกคน  หากไม่เพียงพอต่อความโลภของทุกคน”

สรุปแล้วการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหาขยะนั้นแสนจะง่ายดาย  ด้วยการก้มมองลงไปในถังขยะและตั้งคำถามที่สมเหตุสมผลว่าจะทำอย่างไรกับวัสดุต่างๆ ที่เราทิ้งลงไปในนั้น  ทางหนึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  ด้วยการโยนทิ้งของทุกอย่างที่เราไม่ต้องการลงไปในขยะ รวบรวมใส่ถุงพลาสติกใบหนึ่ง  จากนั้นจ่ายเงินให้ใครสักคนนำไปทิ้ง  วิธีการแก้ปัญหาจากจุดนี้ไปจะยิ่งไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นและแพงขึ้น   

ยิ่งไปกว่านั้น  การแก้ปัญหาขยะที่ปลายเหตุ เงินภาษีอากรจำนวนมากขึ้นๆ ที่ถูกจับจ่ายถ่ายโอนไปเพื่อปัญหาขยะนี้  จะเข้าไปสู่กำปั่นของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งสร้างงานได้เพียงเล็กน้อยและละทิ้งชุมชน  พวกเรายังละทิ้งโอกาสทองในการรับผิดชอบไม่เพียงต่อขยะของเราเท่านั้น  แต่รวมถึงเสียโอกาสทองในการรับผิดชอบกับวิกฤตการณ์ทรัพยากรโลกด้วย

ชุมชนก้าวเคลื่อนไปข้างหน้าไกลเกินกว่าการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  พวกเขาอาจหาญที่จะเจรจากับผู้ดำเนินกิจการโรงงานกำจัดขยะว่า  “ถ้าพวกเราไม่สามารถใช้ของเหลือทิ้งพวกนี้ได้ ส่งมันหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบการผลิตใหม่  หรือเอาไปทำปุ๋ย  พวกคุณไม่ควรสร้างของพวกนี้ขึ้นมา”  วัสดุที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ในกระแสธารขยะเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาแย่มากหรือเป็นวัสดุจำพวกบรรจุภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์ที่จะต้องโยนทิ้งนี้เป็นวิธีการของอุตสาหกรรมในการเพิ่มราคาให้กับลักษณะภายนอกของการบรรจุหีบห่อและผลักภาระไปยังชุมชน

เราไม่สามารถขับเคลื่อนสังคมแบบทิ้งขว้างบนโลกที่มีทรัพยากรจำกัด  ในบริบทนี้หลุมฝังกลบขยะเป็นวิธีอันแสนมักง่ายในการฝังหลักฐานต่างๆ และโรงงานเผาขยะใช้วิธีเผาทำลาย  เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและจุดสุดยอดของปัญหาคือความขัดแย้งระหว่างการบริโภคอย่างล้นเกินและความยั่งยืน  แต่การท้าทายกับการบริโภคแบบฟุ่มเฟือยนี้มิได้เป็นไปโดยง่ายดายนัก

การบริโภคที่ล้นเกิน

ในประเทศอุตสาหกรรม  เราถูกทำให้เสพติดต่อวิถีชีวิตแบบฟุ่มเฟือย อแลน เดิร์นนิ่ง (Alan Durning) เขียนไว้ในหนังสือเล่มยอดเยี่ยมของเขาเรื่อง เท่าไรจะพอเพียง? (How Much is Enough?)  เดิร์นนิ่งอธิบายเกี่ยวกับความฟุ่มเฟือยของประชาชนอเมริกันไว้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

ตัวอย่างเช่น เดิร์นนิ่งบอกเราว่าการบริโภคอย่างล้นเกินเป็นอย่างไร  ในปี ค.ศ. 1953 หนึ่งในที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Eisenhower อธิบายว่า “วัตถุประสงค์สูงสุด” ของเศรษฐกิจอเมริกันคือ “การผลิตสินค้าให้มากขึ้น”

เดิร์นนิ่งยังให้ข้อมูลอีกว่า ในปี ค.ศ. 1958 วิกเตอร์  (Victor Lebow) นักวิเคราะห์การค้าปลีกประกาศว่า
“เศรษฐกิจที่ได้รับผลสำเร็จของเรา…ต้องการให้เราบริโภควิถีชีวิตของเรา  ซึ่งเปลี่ยนการซื้อและใช้สินค้าเป็นดั่งพิธีกรรม  เราแสวงหาความพึงพอใจแด่จิตวิญญาณของเรา  ความพึงพอใจในอัตตา  ในการบริโภค…เราไขว่คว้าวัตถุ เสพ บริโภค เผาผลาญ ฉีกทึ้ง เปลี่ยนใหม่ และโยนทิ้งในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

อย่างหยาบคายเท่ากับที่วาจานี้ปรากฏขึ้น  ผมคิดว่าสามารถอธิบายทัศนคติได้อย่างถ่องแท้เที่ยงธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกำมือของบรรษัทข้ามชาติผู้ขับเคลื่อนอารยธรรมมนุษย์ไปสู่จุดเปลี่ยน

บทกวีของที. เอส. อีเลียต (T.S Eliot) ผู้จุดประกายว่าอาจจะเป็นกลียุคมากเสียยิ่งกว่าพิธีกรรมที่จะน้อมนำให้เราคุกเข่าลง  เมื่อเขาประกาศในบทกวีของเขา มนุษย์ไร้เงา (The Hollow Men),

“นี่คือวิถีทางที่โลกสุดสิ้น,
มิใช่ด้วยแรงระเบิด หากเป็นผู้ครวญคร่ำร่ำไห้”
– ที. เอส. อีเลียต


บลูมเบิร์กและกอตต์เลียบ (Blumberg และ Gottlieb) ประพันธ์ไว้ในหนังสือของพวกเขาเรื่อง ยุทธภูมิขยะ  (War on Waste) พวกเขาแสดงตัวอย่างประหนึ่ง “ผู้คร่ำครวญหวนไห้”  พวกเขาแจ้งเราว่า โรงงานพลาสติกของสหรัฐอเมริกาทำนายว่าผลิตภัณฑ์ขวดซอสมะเขือเทศแบบบีบได้ (และยากที่จะเชื่อว่ามีชีวิตที่แสนสุขโดยปราศจากขวดซอสมะเขือเทศแบบบีบได้!!)  จะเพิ่มปริมาณจาก 300  ล้านขวดในปี ค.ศ. 1985 เป็น  29 พันล้านขวดในปี ค.ศ. 1995

การคำนวณอย่างง่ายๆ แสดงให้เห็นว่าเมื่อประชากรโลกเพิ่มเป็น 6 พันล้าน และสมมติว่ามีความทัดเทียมกัน (ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถจะเท่าเทียมกันได้!)  แต่ละปี ทุกคนบนผืนโลกจะได้ครอบครองขวดซอสมะเขือเทศแบบบีบได้จำนวน 5 ขวดอย่างภาคภูมิใจ

เราทำได้เพียงตั้งสมมติฐานว่าในความคิดคำนึงของกลุ่มบุคคลที่ดำเนินงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีศักยภาพในการตัดโค่นป่าฝน  สร้างมลภาวะให้กับมหาสมุทร  และส่งผ่านสารเคมีที่รบกวนการทำงานต่อมไร้ท่อไปสู่เด็กๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจความพึงพอใจแห่งมวลมนุษยชาติ

หากมีใครสักคนตั้งคำถามต่อตัวแทนของอุตสาหกรรมพลาสติกถึงเหตุผลในการพัฒนาขวดซอสมะเขือเทศพลาสติกชนิดบีบได้ขึ้นมาแทนที่จะใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการพัฒนาขวดแก้วบรรจุซอสมะเขือเทศให้มีปากกว้างมากขึ้น  พวกเขาคงจะให้คำตอบว่า “เป็นความต้องการของผู้บริโภค”  อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าพวกเราล้วนรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร:  การใช้เทคนิคการโฆษณาสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจอโทรทัศน์

ในสังคมอุตสาหกรรมการดูโทรทัศน์ได้กลายเป็นกิจกรรมอันดับหนึ่งสำหรับมนุษย์หลังเลิกงานแล้วนอนหลับ  เหตุผลที่โทรทัศน์ได้รับความนิยมนั้นเพราะว่ามันไม่เรียกร้องการใช้พลังงานอย่างสิ้นเชิง  สิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนเวลา “บริโภค” มันคือการลืมตาหรี่ๆ ไว้ข้างหนึ่งราวหนึ่งส่วนแปดนิ้ว  หากว่าเราง่วงมันก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญเพราะการนอนเป็นกิจกรรมที่เราจะทำต่อไปอยู่แล้ว  ราคาเพียงอย่างเดียวที่เราต้องจ่าย เมื่อเรายังคงมีชีวิต (หรือตายเสียดีกว่า) บนโซฟาระหว่างที่เราจ้องดูจอโทรทัศน์คือทุกๆ 7 นาทีเราจะถูกบอกว่าเราหิว  กระหาย  ป่วย  อ้วนเกินไป หงุดหงิดเรื่องเพศสัมพันธ์ และเราต้องการรถยนต์คันใหม่!

พอล ฮอว์เกน (Paul Hawken) ระบุไว้ใน นิเวศวิทยาพาณิชย์ (Ecology of Commerce)  ช่วงเวลาที่วัยรุ่นอเมริกันใกล้จบมัธยมศึกษาตอนปลาย  ทั้งชายและหญิงได้ดูโฆษณาโทรทัศน์แล้วมากกว่า 350,000 ครั้ง14  วัยรุ่นเหล่านี้วางแผนสำหรับชีวิตอนาคต  ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย  นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะคนอเมริกัน  อแลน เดิร์นนิ่งระบุว่าการขายโฆษณาของโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างประมาณค่ามิได้15   ถ้าหากสิ่งนี้ยังคงต่อเนื่องเราอาจจะได้เห็นโลกที่ดูเหมือนภาพวาดในนิตยสาร Adbusters

ข้อบ่งชี้อีกประการหนึ่งที่ว่าโลกของเรากำลังก้าวไปสู่หนไหนนั้นคือสถิติที่บันทึกไว้ว่า ละครชุดหาดสวรรค์ (Baywatch) โด่งดังไปทั่วโลกเพียงไร  ละครชุดนี้ถูก “บริโภค” โดยผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก!!

โชคร้ายจริงๆ  สินค้าที่เราส่งเผยแพร่ออกไปทั่วโลกนั้น คือ ภาพมายาแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด : ยิ่งเราบริโภคมากเพียงใด เราจะยิ่งมีความสุขมากเพียงนั้น  ภาพมายานี้ชัดเจนขึ้นจากการศึกษาเรื่องยาเสพติด อาชญากรรม สุขภาพจิต และปัญหาความยากจนของอเมริกา

จากข้อมูลของเดิร์นนิ่งระบุว่า พวกเราร่ำรวยกว่าปู่ย่าตาทวดบรรพบุรุษของเราในช่วงเปลี่ยนศตวรรษถึง 4.5 เท่า ทว่า เรามิได้มีความสุขที่แท้จริงมากกว่าบรรพชนของเรา 4.5 เท่า

ดังนั้น เราถูกนำกลับไปสู่สิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นคำถามที่สำคัญมากในยุคสมัยของพวกเรา

เท่าไรจึงพอ?

เราต้องการสิ่งใดกันแน่จึงจะมีความสุข?

เราจะมีความสุขและมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนควบคู่กันไปได้อย่างไร?

เราจะมีความสุขโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น (ผู้อื่นที่อยู่ในดินแดนห่างไกลและในห้วงเวลาอนาคต)และไม่ละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขาที่จะมีความสุขได้อย่างไร?

กล่าวอย่างสั้นๆ คือ ทำอย่างไรที่เราจะลด ละ เลิกการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย  ก่อนที่มันจะล้มล้างสร้างหายนะแก่เรา?
การตั้งคำถามเป็นเรื่องยากมากกว่าการหาคำตอบ  ความย่ำแย่ของปัจจุบันคือนักเทคโนโลยีมัวค้นหาคำตอบและทำให้โลกของเราจมดิ่งลง

วิทยาศาสตร์, ความหยิ่งยโสโอหัง และความยั่งยืน

ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มต้นตั้งคำถามที่ถูกต้อง  ผมเชื่อว่าสิ่งจำเป็นประการแรกสำหรับพวกเขาคือจะต้องพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้นก่อน

พวกเราต้องทนกับความหยิ่งยโสของเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี   ความหยิ่งยโสก็คือความเขลาเบาปัญญาที่สนับสนุนด้วยความมั่นใจเกินเหตุ

เราไม่รู้คำตอบทั้งหมดของมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะ  แต่เรายังคงวิธีการนี้อยู่  เราไม่รู้คำตอบทั้งหมดของการตัดต่อยีนจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง  นำไปรวมกับในสิ่งชีวิตอีกชนิดหนึ่ง  แต่เราก็ทำมันอยู่ดี  เราไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด  ความหยิ่งยโสดำเนินต่อไป  ดังเช่นมาร์ก ทเวน  (Mark Twain) กล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์อาจมิหวนกลับมา  แต่ทว่าท่วงทำนองจะย้อนคืน”

เราไม่รู้คำตอบทั้งหมดของมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะ  แต่เรายังคงวิธีการนี้อยู่  เราไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด  ความหยิ่งยโสดำเนินต่อไปดังเช่นมาร์ก ทเวน  (Mark Twain) กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์อาจมิหวนกลับมา  แต่ทว่าท่วงทำนองจะย้อนคืน”

รากเหง้าของความโอหังของเรา คือ ความเชื่ออย่างโง่เขลาที่คิดว่ามนุษย์ฉลาดกว่าธรรมชาติ  ยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติ  สูงส่งและแยกออกจากธรรมชาติ  และสามารถควบคุมธรรมชาติได้

ผมนึกถึงข้อคิดเห็นอันลึกซึ้งของ อี.เอฟ. ชูมาร์กเกอร์เกี่ยวกับสงครามของมนุษย์กับธรรมชาติ “ถ้ามนุษย์คือผู้พิชิตในสงคราม  พวกเขาจักค้นพบตัวเองอยู่ร่วมกับผู้ปราชัย”

ในท่ามกลางความขาดแคลนความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยความเคารพต่อกระบวนการธรรมชาติและข้อจำกัด  ก่อให้เกิดความขาดแคลนการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อภูมิปัญญาของชนพื้นเมือง  หากด้วยสติปัญญา แลแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของชนพื้นเมือง  อีกทั้งระบบการเกษตร และภูมิรู้ด้านสมุนไพรอันดำรงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของธรรมชาติ  พวกเขามีวิถีชีวิตอันยั่งยืน  แต่ของเรานั้นตรงกันข้าม

ผมมิได้หมายความว่าเราจะต้องย้อนยุคไปเหมือนสมัยหิน หรือปฏิเสธวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งมวล  แต่ผมกำลังพูดว่าเป็นเวลาที่เราจะต้องเริ่มปฏิเสธความไร้สาระ  เราต้องเริ่มต้นการแยกแยะความมีเหตุผลออกจากความเขลาเบาปัญญา  ความยั่งยืนจากความไม่ยั่งยืน  ในสภาวะที่มีความวิตกกังวลต่อการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย  พวกเราในประเทศอุตสาหกรรมทางตอนเหนือ ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ก่อนที่วิธีการแบบหละหลวมสุรุ่ยสุร่ายจะถูกลอกเลียนแบบไปสู่เอเชีย  แอฟริกา ละตินอเมริกาและยุโรปตะวันออก

บางคนอาจจะโต้แย้งว่าความยั่งยืนเป็นเพียงความหรูหราฟุ่มเฟือยของกลุ่มคนผู้อ้างสติปัญญาสูง  ซึ่งทำได้เพียงเฉพาะผู้ที่มั่งคั่งเท่านั้น  พวกเขาจะอ้างว่ามีเพียง “โลกาภิวัตน์ของระบบเศรษฐกิจ” ที่จะใช้จัดการกับประเด็นความยากจนในประเทศทางตอนใต้ได้

อย่างไรก็ตาม  มีนักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนที่มีความเห็นที่ท้าทายว่าโลกาภิวัตน์มีผลกระทบด้านตรงข้าม  เรียกว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะขยายกว้างมากขึ้น  ในหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ โลกปันส่วน นิเวศวิทยาแห่งความมั่งคั่งและความยากจน (Divided Planet : The Ecology of Rich and Poor)  ผู้เขียนคือ ทอม  (Tom Athanasiou) อ้างอิงคำพูดของแจ๊คกี้ (Jacques Attali) ประธานผู้ก่อตั้ง The European Bank for Reconstruction and Development ซึ่งกล่าวว่า “ในโลกที่กำลังจะมาถึง  จะมีผู้พิชิต และผู้ปราชัย  จำนวนคนพ่ายแพ้จะมากมายกว่าผู้ชนะด้วยปริมาณที่ไม่อาจคาดคะเนได้”

หนังสือเรื่อง จิ๋วแต่แจ๋ว (Small is Beautiful )โดยอี. เอฟ. ชูมาร์กเกอร์ (E.F. Schumacher)  (1973) For the Common Goodโดย Herman Daly และ John Cobb  (1989)  The Growth Illusion โดย Richard Douthwaite (1992) The Ecology of Commerce โดย Paul Hawken (1993) When Corporations Rule the Worldโดย David Korten (1995)  และ Get a Life ! โดย  Wayne Roberts และ Susan Brandum (1995)  หนังสือทั้งหมดที่กล่าวมานี้เน้นความจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในหน่วยย่อยและระดับท้องถิ่นเป็นว่าวิถีทางที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขความยากจนและปกป้องสิ่งแวดล้อม

สำหรับนักวิทยาศาสตร์คนใดก็ตามที่ปรารถนาจะสร้างชื่อเสียงในอนาคต คำสำคัญที่ต้องจดจำคือ สง่างาม  เราต้องการทางแก้ปัญหาที่สง่างาม เราต้องลงทุนสำหรับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  การอนุรักษ์พลังงาน  และบ้านพลังงานแสงอาทิตย์  เราต้องการโรงงานพลังงานที่ดูเหมือนใบไม้มากกว่าโรงงานปรมาณู  พวกเราต้องครองชีพด้วย “รายได้” (income : ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถสร้างขึ้นทดแทนใหม่ได้) มิใช่ “ทุน” (capital : ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดใช้แล้วหมดไป) เราจำเป็นต้องจัดการกับวัตถุดิบด้วยวิธีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้คนในอนาคตได้ใช้ด้วย  เราจำเป็นต้องปลูกอาหารในวิถีทางที่กลมกลืมกับระบบนิเวศวิทยา  ไม่ใช่ด้วยวิธีการที่ย่ำยีจนธรรมชาติย่อยยับ  เราจำเป็นต้องเคารพต่อผืนปฐพี และเราต้องบริโภคน้อยลงในห่วงโซ่อาหาร  ดังนั้นผู้บริโภคจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

เราอาจจะต้องการเครื่องจักร  หากสิ่งที่สำคัญจำเป็นยิ่งกว่า คือ เราต้องรู้ว่าเมื่อไรเราต้องปิดเครื่องจักร   เราจำเป็นต้องยอมรับความจริงที่ว่าในศตวรรษต่อไป  จุดสำคัญจะเปลี่ยนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปสู่ความก้าวหน้าทางสังคม 

เราจำเป็นต้องปิดโทรทัศน์  อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งคืน  เราจำเป็นต้องทำกิจกรรมบันเทิงสำหรับตัวเราเองในแหล่งพำนักของเรา  ไม่ใช่การรับสัญญาณภาพไฟฟ้าจากที่อื่นๆ  เราจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ ที่อยู่รายรอบตัวเรา มิใช่กับของสะสม  เราจำเป็นต้องพัฒนาชุมชนอย่างจริงใจ

เราจำเป็นต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับผืนดินที่หล่อเลี้ยงเรา  และรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา  ปราศจากซึ่งสายสัมพันธ์เหล่านี้  ชีวิตมีความหมายได้อย่างไร?

สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว  มันไม่เพียงพอเพียงแค่ความสามารถในการยักย้ายถ่ายเทสสาร  ทั้งจะต้องตระหนักเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสารเหล่านั้น  ก่อนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทุกประการให้เกิดขึ้นตามความปรารถนา  เราจักต้องไถ่ถามถึงความยั่งยืน

ตัวอย่างเช่น  ก่อนที่จะแก้ปัญหาที่ว่า “เราจะสร้างรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?”  คำถามที่เหมาะสมมากกว่าน่าจะเป็น “เราจะออกแบบชุมชนที่ไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ได้อย่างไร?”  เหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งปวง  เราจำเป็นที่จะต้องลด ละความเร่งรีบ เร่งร้อน ! ด้วยดาวโลกดวงนี้มิอาจจะอดทนต่อความปรารถนาอันไม่สิ้นสุดของเราได้  ในมุมมองของผม  สิ่งตรงกันข้ามของการบริโภคแบบล้นเกิน คือการเป็นส่วนหนึ่งของบ้านพวกเรา ณ ปัจจุบัน  บางครั้ง เป็นเรื่องง่ายกว่าการชื่นชมกับดวงดาวอันไกลโพ้น  บางที ขั้นตอนที่สำคัญสำหรับทุกการทดลองที่นักวิทยาศาสตร์ควรถือปฏิบัติ คือ การอ่านบทกวีอย่างน้อยสักหนึ่งบท

แมรี่ คล๊าค (Mary E. Clark) อ้างอิงคำพูดของสก๊อต  (N. Scott Momaday) ชาวอินเดียนแดงเผ่าคิโอวา  ด้วยบทกวีซึ่งแฝงแนวคิดอันพวกเราควรจะได้พินิจพิจารณา

“ท่านกล่าวว่าข้าพเจ้าใช้แผ่นดิน ข้าพเจ้าตอบว่า ใช่ เป็นเรื่องจริง แต่นั่นมิใช่ความจริงแท้ ความจริงประการแรกคือ ข้าพเจ้ารักแผ่นดิน ข้าพเจ้ามองเห็นว่าแผ่นดินงดงาม ข้าพเจ้าปิติสุขในแผ่นดิน ข้าพเจ้าดำรงอยู่ในแผ่นดิน” 

ชาวอินเดียนแดงเผ่าคิโอวา