อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี 2565 เท่ากับปี 2558 โดยอยู่อันดับ 5 จากการวิเคราะห์ของ NASA นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันก็อดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศ (GISS) ของ NASA กล่าวว่า จากแนวโน้มโลกร้อนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี 2565 อยู่ที่ 0.89 องศาเซลเซียส (1.6 องศาฟาเรนไฮต์) สูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงปีฐาน (พ.ศ. 2494-2523)

9 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกอุณหภูมิในปี 2423 ซึ่งหมายความว่าโลกในปี 2565 อุ่นขึ้นประมาณ 1.11°C (2°F) โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับช่วงปลายศตวรรษที่ 19

แผนที่ด้านบนแสดงการเปลี่ยนแปลงจากค่าปกติของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี 2565 โดยไม่ได้แสดงถึงอุณหภูมิสัมบูรณ์ แต่จะแสดงให้เห็นว่าแต่ละภูมิภาคของโลกอุ่นขึ้นหรือเย็นลงมากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2494 ถึง 2523 แผนภูมิแท่งด้านล่างแสดงปี 2565 ในบริบทที่มีความผิดปกติของอุณหภูมิตั้งแต่ปี 2423 ค่าดังกล่าวแสดงถึงอุณหภูมิพื้นผิวโดยเฉลี่ยทั่วทั้งโลก

Gavin Schmidt ผู้อำนวยการ GISS ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยชั้นนำด้านการสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศของ NASA กล่าวว่า “สาเหตุของแนวโน้มภาวะโลกร้อนคือ กิจกรรมของมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ และผลกระทบระยะยาวต่อโลกก็จะดำเนินต่อไป”

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ของ NASA และนักวิทยาศาสตร์นานาชาติระบุว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 นอกจากนี้ NASA ยังระบุถึงการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทรงพลังอีกชนิดหนึ่ง โดยใช้เครื่องมือ Earth Surface Mineral Dust Source Investigation (EMIT) ที่เปิดตัวสู่สถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปีที่แล้ว

ภูมิภาคอาร์กติกยังคงประสบกับแนวโน้มภาวะโลกร้อนที่แรงที่สุดซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสี่เท่า จากการวิจัยของ GISS ที่นำเสนอในการประชุมประจำปีของ American Geophysical Union ในปี 2022 รวมถึงการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงอื่นๆ

ชุมชนทั่วโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบที่นักวิทยาศาสตร์มองว่าเชื่อมโยงกับบรรยากาศและมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มปริมาณน้ำฝนและพายุโซนร้อน ความรุนแรงของภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้น และเพิ่มผลกระทบจากคลื่นพายุซัดฝั่ง ปี 2565 เกิดมรสุมฝนกระหน่ำที่ทำลายล้างปากีสถานและเกิดภัยแล้งขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2565 เฮอริเคนเอียนกลายเป็นหนึ่งในเฮอริเคนที่มีกำลังแรงมากที่สุดและมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดที่เข้าถล่มทวีปอเมริกา

การวิเคราะห์อุณหภูมิโลกของ NASA มาจากข้อมูลที่รวบรวมโดยสถานีตรวจอากาศและสถานีวิจัยแอนตาร์กติก ตลอดจนเครื่องมือที่ติดตั้งบนเรือและทุ่นลอยน้ำในมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์ของ NASA วิเคราะห์การวัดเหล่านี้เพื่ออธิบายความไม่แน่นอนในข้อมูล และเพื่อรักษาวิธีการที่สอดคล้องกันในการคำนวณความแตกต่างของอุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยทุกปี การวัดอุณหภูมิพื้นผิวบนพื้นดินเหล่านี้สอดคล้องกับข้อมูลดาวเทียมที่รวบรวมตั้งแต่ปี 2545 โดย Atmospheric Infrared Sounder บนดาวเทียม Aqua ของ NASA และการประมาณการอื่นๆ

NASA ใช้ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2494–2523 เป็นพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจว่าอุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวรวมถึงรูปแบบภูมิอากาศ เช่น ลานีญาและเอลนีโญ ตลอดจนปีที่ร้อนจัดหรือหนาวจัดผิดปกติเนื่องจากปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าครอบคลุมความผันแปรตามธรรมชาติของอุณหภูมิโลก

ปัจจัยหลายอย่างอาจส่งผลต่ออุณหภูมิเฉลี่ยในปีใดก็ตาม ตัวอย่างเช่น ปี 2565 เป็นหนึ่งในปีที่อบอุ่นที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนติดต่อกันเป็นปีที่สาม นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ประมาณการว่าอิทธิพลของการเย็นตัวลงของลานีญาอาจทำให้อุณหภูมิโลกลดลงเล็กน้อย (ประมาณ 0.06°C หรือ 0.11°F) จากค่าเฉลี่ยที่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้สภาวะมหาสมุทรทั่วไป

การวิเคราะห์อิสระแยกต่างหากโดย National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) สรุปได้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกในปี 2565 นั้นสูงเป็นอันดับหกนับตั้งแต่ปี 2423 นักวิทยาศาสตร์ของ NOAA ใช้ข้อมูลดิบเดียวกันจำนวนมากในการวิเคราะห์และมีปีฐาน(ปี 2444-2543)และวิธีการที่ต่างกัน แม้ว่าการจัดอันดับในปีใดปีหนึ่งอาจแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างสถิติ แต่ก็เป็นข้อตกลงกว้างๆ และทั้งสองอย่างสะท้อนถึงภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ชุดข้อมูลทั้งหมดของ NASA เกี่ยวกับอุณหภูมิพื้นผิวโลกจนถึงปี 2565 ตลอดจนรายละเอียดทั้งหมดพร้อมรหัสของวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ทำการวิเคราะห์นั้น เผยแพร่สู่สาธารณะโดย GISS

NASA Earth Observatory images by Joshua Stevens, based on data from the NASA Goddard Institute for Space Studies. Video by NASA’s Goddard Space Flight Center/Kathleen Gaeta.
References & Resources

NASA (2023, January 12) NASA Says 2022 Fifth Warmest Year on Record, Warming Trend Continues. Accessed January 12, 2023.
NASA (2023, January 12) La NASA afirma que 2022 es el quinto año más cálido registrado. Accessed January 12, 2023.
NASA Goddard Institute for Space Studies (2023) GISS Surface Temperature Analysis (GISTEMP v4). Accessed January 12, 2023.
NASA Earth Observatory (2022) World of Change: Global Temperatures. Accessed January 12, 2023.
NASA Earth Observatory (2018, October 19) The New UN Climate Report in One Sentence. Accessed January 12, 2023.
NASA Earth Observatory (2015, January 21) Why So Many Global Temperature Records? Accessed January 12, 2023.
NASA Earth Observatory (2010, June 3) Global Warming. Accessed January 12, 2023.
NOAA National Centers for Environmental Information (2023, January 12) The globe had its sixth-warmest year on record. Accessed January 12, 2023.