
เปรียบเทียบกันระหว่าง(ร่าง)ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยฉบับใหม่และดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ (Northern Thailand Air Quality Health Index-NTAQHI) ก็จะประมาณรูปนี้ครับ
(ร่าง)ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยฉบับใหม่แทบจะไม่มีอะไรใหม่ ยกเว้นความเข้มข้นของ PM2.5 ในหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ปรับตาม Ambient Air Standard ที่เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 นี้
สรุปง่ายๆ คือเมื่อ ความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กรมควบคุมมลพิษก็จะแจ้งเตือนว่า AQI ของฝุ่นพิษ PM2.5 = 100 (สีส้ม) และ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” และเมื่อ AQI เกิน 200 จึงจะแจ้งเตือนว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 “มีผลกระทบต่อสุขภาพ”
ส่วนดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ (Northern Thailand Air Quality Health Index-NTAQHI) ก้าวหน้ากว่าในแง่ของการเตือนภัย กล่าวคือ ความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไปจนถึง 55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ AQI = 100-150 (สีส้ม) จะแจ้งเตือนว่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อกลุ่มเสี่ยง” และเมื่อ AQI เป็น151-200 จะเตือนว่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ”
แถบสี “ดัชนีคุณภาพอากาศ” ที่มากกว่า 200 ขึ้นไป ไม่ว่าจะมากกว่าแค่ไหน (ร่าง)ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยฉบับใหม่ก็จะเป็นสีแดงไปจนสุด ในขณะที่ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ (Northern Thailand Air Quality Health Index-NTAQHI) จะเป็นสีม่วง(201-300) และสีน้ำตาล (300-500) ถัดจากนั้นไปจะเรียกว่า Beyond AQI
การเปิดรับฟังความคิดเห็น(แบบไทยๆ)ในเรื่องนี้ กรมควบคุมมลพิษอยากรู้แค่ว่า “เห็นด้วยไม่มีข้อแก้ไข” กับ “เห็นด้วยโดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม” กล่าวง่ายๆ คือ ก็ตามที่ร่างนั่นแหละ อย่าคิดต่าง อย่าเรื่องมาก