ตอนแรกเรารู้นิยามกว้าง ๆ ของการผลิตที่สะอาดไปแล้ว
ถ้าพูดถึงแนวคิด การผลิตที่สะอาด นั้นมีรากฐานอยู่บนแนวคิดเรื่อง วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ นั่นคือ
- ตั้งคำถามกันตั้งแต่ต้นว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นของจำเป็นหรือไม่
- เลือกวัสดุ ระบบการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยยึดหลักระวังไว้ก่อน
- ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทนทานและนำกลับมาใช้ซ้ำได้
- ใช้พลังงานทดแทน น้ำ และวัตถุดิบให้น้อยที่สุด
- ใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัยกว่าหรือไม่มีพิษในกระบวนการผลิต
- นำวัสดุที่ปลอดภัยทางนิเวศกลับมาหมุนเวียนใช้อีก
- ลดการบริโภคในระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้วัตถุดิบอย่างเข้มข้นดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยยังคงรักษาระดับคุณภาพชีวิตและวัตถุดิบเอาไว้
- รับประกันการงานที่ยั่งยืน
- ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและสังคม
แท้จริงแล้ว การผลิตที่สะอาดหมายถึงการใช้พลังงานและวัสดุทดแทน การใช้ทรัพยากรในปริมาณน้อย การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน การผลิตอาหารด้วยวิธีการที่ยั่งยืน และการผลิตของเสียที่ไม่เป็นพิษและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในกระบวนการผลิต
การผลิตที่สะอาดเริ่มจากการมองภาพรวมการไหลเวียนของวัสดุในสังคม โดยเฉพาะการมองที่ห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ (product chain) ซึ่งคือ ได้วัตถุดิบมาจากไหน ใช้วิธีการผลิตอย่างไรและผลิตที่ไหน เกิดของเสียอะไรบ้างในห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่ทำมาจากวัตถุดิบนี้ และเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นในระหว่างใช้งานและเมื่อสิ้นอายุการใช้งานแล้ว
นอกจากนี้ การผลิตที่สะอาดยังตั้งคำถามถึงความจำเป็นของผลิตภัณฑ์นั้น บ่อยครั้งที่เราสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกิดจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วยสิ่งอื่นหรือวิธีการอื่นที่สะอาดกว่า ปลอดภัยกว่า กับทั้งใช้วัตถุดิบและพลังงานน้อยกว่า
ตัวอย่างเช่น กระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งแม้จะนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ก็ใช้พลังงานมหาศาลและใช้แร่ธาตุจำนวนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับขวดแก้วชนิดเติมได้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยอาศัยการจัดการเพียงแค่ระดับชุมชนหรือท้องถิ่น ในทำนองเดียวกันระบบขนส่งมวลชนที่ดีและเชื่อถือได้จะมีประสิทธิภาพกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล เพราะสามารถขนส่งคนได้มากกว่าเมื่อใช้พลังงานและทรัพยากรเท่าๆ กัน เราสามารถออกแบบรูปแบบการอยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพ เราสามารถออกแบบเมืองและชุมชนที่มีทั้งย่านพักอาศัย ย่านธุรกิจ และร้านค้าปลีก เพื่อลดความจำเป็นในการเดินทางระหว่างชานเมืองกับตัวเมือง
ตอนต่อไปเราจะมาดูว่า การผลิตที่สะอาด และ การป้องกันมลภาวะ นั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
หมายเหตุ : Series “การผลิตที่สะอาด” นี้ย่อยมาจากคู่มือประชาชนว่าด้วยการผลิตที่สะอาดซึ่งจะวิเคราะห์แนวคิดและยุทธศาสตร์ที่สำคัญ พร้อมกับเสนอแนวทางให้บุคคลและกลุ่มบุคคลร่วมกันทำให้การผลิตและบริโภคมีความปลอดภัยและยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ไม่ได้ประสงค์ที่จะให้เป็นคู่มือที่ให้รายละเอียดในการนำไปปฏิบัติ หากแต่สิ่งที่นำเสนอจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน และให้สามารถลงมือกระทำได้ คู่มือดังกล่าวนี้เขียนขึ้นเพื่อผู้บริโภค ผู้เสียภาษี ผู้ค้าปลีก เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น องค์กรแรงงาน ผู้ผลิต และนักวางแผน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ความรู้พื้นฐาน เป็นเครื่องมือและเครื่องสนับสนุนนักสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมที่ต้องการหาวิธีการรณรงค์เชิงบวกแบบใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
-ธารา บัวคำศรี –