‘ภาวะโลกร้อน’ ได้กลายเป็นประเด็นนโยบายสาธารณะของโลก เราลองมาย้อนประวัติศาสตร์การเมืองแบบพิสดารของเรื่องนี้กัน
การค้นพบปรากฏการณ์เรือนกระจกในช่วงศตวรรษที่ 19 คือจุดกำเนิดของเรื่อง ช่วงทศวรรษ 1950 มีข่าวฮือฮาในนิตยสารแซตเทอร์เดย์ อีฟนิ่ง โพสต์ (Saturday Evening Post) ของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งคำถามว่าโลกร้อนขึ้นจริงหรือ มาจนถึงช่วงทศวรรษ 1960 ก็มีข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในขณะนั้นโลกมีเรื่องอื่นที่น่าหนักใจมากกว่า โดยเฉพาะประเด็นนิวเคลียร์ล้างโลก
นอกเหนือจากแวดวงนักวิทยาศาสตร์ มีน้อยคนที่รับรู้ถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในช่วงทศวรรษ 1970 ความสนใจที่เป็น ‘ข่าว’ มากกว่ากลับไม่ใช่เรื่องภาวะโลกร้อน หากเป็นเรื่องอุณหภูมิของโลกเย็นลง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในเวลานั้นคาดว่าน่าจะเกิดจากฝุ่นละอองและอนุภาคซัลเฟตที่เป็นตัวป้องกันแสงอาทิตย์ที่ตกลงมาบนผิวโลก
ถึงกระนั้นก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่มกังวลเกี่ยวกับการที่อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว การศึกษาของ US National Academy of Science ยืนยันว่าการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศนำไปสู่ภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของแบบจำลองคอมพิวเตอร์ซึ่งทั้งหมดระบุว่าแนวโน้มของภาวะโลกร้อนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1980 อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกก็เริ่มเชิดหัวขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ยกเว้นช่วงระยะเวลา 2 ปีหลังจากภูเขาไฟพินาตูโบ (Pinatubo) ระเบิดในปี 1991
ช่วงต้นทศวรรษ 1980 มีการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น แต่ยังจำกัดอยู่ในแวดวงรัฐบาลและห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ มีรายงานข่าวเรื่องภาวะโลกร้อนออกมาเป็นระยะ ประกอบกับช่วงดังกล่าวเป็นยุคสงครามเย็น นักสร้างแบบจำลองภูมิอากาศมีข้อถกเถียงกันว่า หากเกิดสงครามนิวเคลียร์จะทำให้เกิดอนุภาคที่ป้องกันรังสีดวงอาทิตย์ส่องลงมาบนพื้นโลกและนำไปสู่ฤดูหนาวนิวเคลียร์ (nuclear winter) แต่ถึงกระนั้น ทฤษฎีเรื่องภาวะโลกร้อนก็ยังเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง
»»อ่านเพิ่มเติม ระหว่าง “นิเวศวิทยา” กับ “ความเป็นธรรม” อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก