
คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่าเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ไม่ได้คิดถึงเรื่อง ‘ปรากฏการณ์เรือนกระจก’ ในขณะที่เขาเขียนเรื่องของชายคนหนึ่งที่ทิ้งร่างไร้วิญญาณซึ่งเน่าเปื่อยไว้ใกล้กับเทือกเขาที่ซึ่งหิมะที่ปกคลุมบนยอดกำลังจะหายไป เรื่องสั้นคลาสสิกของเฮมิงเวย์ที่ชื่อ ‘หิมะแห่งคีลิมานจาโร (Snow of Kilimanjaro)’ ขณะนี้เป็นผลงานมาตรฐานของภาพลักษณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แท้จริงแล้วหิมะที่ปกคลุมยอดเขาที่สูงที่สุดของทวีปแอฟริกากำลังหายไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นกระบวนการที่เริ่มขึ้นมาหลายทศวรรษแล้วก่อนที่เฮมิงเวย์จะจับปากกาเขียนเรื่องของเขา ในจำนวนยอดเขา 3 แห่งที่ประกอบเป็นคีรีมานจาโรอันมหึมา มีเพียงยอดเดียว คือ คิโบ (Kibo) ความสูง 5,893 เมตร ซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดที่ยังมีน้ำแข็งปกคลุม
หิมะบนยอดคิโบลดขนาดลงร้อยละ 80 ในช่วงศตวรรษที่ 20 และมีการรายงานว่า ความหนาของชั้นหิมะก็ลดลงในอัตราราว 50 เซนติเมตรต่อปีนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ถึงแม้ว่ายอดภูเขาจะมีหิมะปกคลุมในช่วงฤดูหนาว แต่การหดตัวของหิมะที่มีอย่างต่อเนื่องในระยะยาวนำไปสู่การคาดการณ์ที่ค่อนข้างจะเที่ยงตรงว่า หิมะบนคีลีมานจาโรจะหายไปในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558-2563
อาจเรียกได้ว่า ‘คีลีมานจาโร’ เป็นตำราว่าด้วย ‘การเกิดความร้อนและการละลาย’ ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นที่เรียกความสนใจ นำไปสู่หัวข้อในการถกเถียงเชิงจิตวิญญาณในหมู่นักวิจัยด้านธารน้ำแข็ง รวมถึงเป็นหัวข้อนิยมของผู้ที่สงสัยเรื่องโลกร้อน ซึ่งคาดประมาณการหายไปของหิมะบนยอดเขาเพียงยอดเดียวเพื่อเป็นข้อโต้แย้งกับปรากฏการณ์ของการหดตัวของธารน้ำแข็งในพื้นที่อื่นๆ ของโลก
อะไรที่ทำให้เรื่องของหิมะแห่งคีลีมานจาโรยังไม่มีข้อสรุป ประเด็นหนึ่งก็คือ อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยเหนือยอดคิโบนั้นอยู่ใต้จุดเยือกแข็งจนถึงประมาณลบ 7 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการปฏิเสธปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปเสียทั้งหมด แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่มากไปกว่าภาวะโลกร้อน
ลักษณะของหิมะที่ปกคลุมยอดเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้อง แทนที่ยอดหิมะจะเป็นรูปร่างกลม ด้านหนึ่งของยอดหิมะมีลักษณะชันมาก สูงประมาณ 20 เมตร นักวิจัยชื่อจอร์จ กีเซอร์ (George Geiser) แห่งมหาวิทยาลัยอินสบรุก (Insbruke) เสนอว่าถ้าปัจจัยด้านอุณหภูมิอากาศอย่างเดียวเปลี่ยนแปลงตามลักษณะการละลาย การหดตัวของหิมะจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามเส้นชั้นความสูง ดังนั้น ดวงอาทิตย์น่าจะเป็นตัวการหลักของการละลายของหิมะมากกว่าอุณหภูมิของอากาศ
หลักฐานด้านอิทธิพลของดวงอาทิตย์ คือ แนวตะวันออก-ตะวันตกของยอดหิมะ การที่ภูเขาอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรลงมาเพียง 370 กิโลเมตร ทำให้พื้นผิวของยอดน้ำแข็งสัมผัสรังสีดวงอาทิตย์ในช่วงต่างๆ ของปี ประกอบกับการเกิดฤดูแล้งบนยอดเขา 2 ช่วง (ธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ และมิถุนายนถึงกันยายน) ซึ่งเป็นช่วงไร้เมฆ ทำให้รังสีดวงอาทิตย์ส่องตรงลงมาได้มากขึ้น และโดยทั่วไป ลมประจำถิ่นเป็นลมอ่อน ดังนั้น พื้นผิวที่ละลายจากรังสีดวงอาทิตย์จึงไม่ได้แห้งไปทั้งหมด และกลับมาเย็นอีกครั้งในอากาศ
แม้ว่าเหตุผลนี้จะช่วยอธิบายรูปร่างของหิมะแห่งคีลีมานจาโร แต่ก็ไม่ได้บอกเราว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หิมะเริ่มหายไป นักวิชาการได้เสนอแนวคิดว่า น่าจะเป็นความแห้งแล้งในระดับพื้นที่ (ยืนยันจากการลดลงของทะเลสาบวิกตอเรียที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง) ซึ่งเริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 1880 และอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการละลายของหิมะในปัจจุบัน สิ่งที่ยังไม่มีข้อมูลก็คือว่า ยอดหิมะนั้นเป็นอย่างไร
ในช่วงที่เกิดความแห้งแล้งขึ้นก่อนทศวรรษ 1880 ข้อมูลจากแกนน้ำแข็งระบุว่า บางส่วนของพืดน้ำแข็งบนยอดเขาอยู่มานานกว่า 11,000 ปี แต่ก็มีข้อถกเถียงว่า ส่วนใหญ่ของพืดน้ำแข็งนั้นเกิดขึ้นในช่วง 200-300 ปีก่อน นักวิจัยเองนั้นไม่ได้ตัดเอาปัจจัยเรื่องภาวะโลกร้อนออกไปในฐานะที่เป็นตัวการของการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของอากาศบนยอดเขา – ที่มีอิทธิพลมาจากมหาสมุทรอินเดีย – ซึ่งช่วยทำให้เกิดความแห้งแล้งบนยอดเขา
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศแห่งใหม่ 3 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องภาวะความร้อนและความแห้งแล้งที่ดำเนินอยู่ ขณะเดียวกัน แบบจำลองคอมพิวเตอร์ชิ้นใหม่ก็ได้เริ่มทำการเชื่อมโยงสภาวะอากาศในระดับย่อยรอบๆ คีลีมานจาโรกับบรรยากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนกับยอดเขาคีลีมานจาโรได้เป็นประเด็นถกเถียงอีกประเด็นหนึ่ง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินสบรุกเสนอว่า การทำลายพื้นที่ป่าเชิงเขาก็เป็นสาเหตุสำคัญของความแห้งแล้งในพื้นที่ แนวคิดนี้ใช้ได้กับพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีข้อพิสูจน์ที่คีลีมานจาโร
นอกจากการเป็นสัญลักษณ์ของแอฟริกาแล้ว การสูญเสียหิมะแห่งคีลีมานจาโรมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่มากนัก อาจส่งผลบ้างต่อการท่องเที่ยว แต่ตัวภูเขาเองก็ยังเป็นแรงดึงดูดใจที่ดี การสูญเสียหิมะบนยอดเขายังไม่ส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่ของคนในท้องถิ่น ผลการวัดสภาพการสูญเสียนี้แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 90 ของน้ำแข็งที่หายไปจากยอดเขานั้นระเหยขึ้นไปในบรรยากาศโดยตรง การไหลของน้ำผิวดินจากยอดภูเขาน้ำแข็งส่วนใหญ่นั้นก็ระเหยไปในอากาศก่อนที่จะถึงแหล่งน้ำทางด้านเชิงเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รับความชื้นในช่วงมรสุมเสียเป็นส่วนใหญ่
ถึงแม้ว่าชะตากรรมของยอดเขาน้ำแข็งจะเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่นักวิจัยก็ยังเชื่อว่า จะยังคงมีธารน้ำแข็งเล็กๆ กระจายอยู่ต่อไป นักวิทยาศาสตร์เองก็อยากจะเห็นว่า ความสนใจจะพุ่งเป้ามากขึ้นไปที่ธารน้ำแข็งอื่นๆ นับพันแห่งที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่มาของภาพประกอบ NASA Earth Observatory ภาพสามมิติข้างบนนี้ทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลสภาพภูมิประเทศจาก Shuttle Radar Topography Mission (SRTM) ซึ่งถ่ายโดยดาวเทียมแลนแซต 7 ขนาด: ทิวทัศน์ตามแนวกว้าง 124 กิโลเมตร (77 ไมล์) ตามแนวยาว 166 กิโลเมตร (103 ไมล์) ที่ตั้ง : ละติจูด 3 องศาใต้ ลองติจูด 37 องศาตะวันออกการจัดวาง : View North, 2 degrees below horizontal, 2 times vertical exaggeration
ข้อมูลที่ได้รับ : กุมภาพันธ์ 2543 (SRTM); 21 กุมภาพันธ์ 2543 (Landsat 7)