ความรับผิดชอบของผู้ผลิตครอบคลุมไปถึงการจัดการกับของเสียที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ด้วย เครื่องมือที่ใช้ผลักดันเรื่องนี้คือ ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility – EPR) ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบทางการเงินและทางกายภาพในการรับคืนผลิตภัณฑ์ของตนเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นหมดอายุการใช้งานแล้ว กิจกรรมที่ดำเนินไปภายใต้แนวความคิดนี้ก็เช่น การที่ผู้ผลิตรับผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุใช้งานของตนกลับคืนจากผู้บริโภค (นั่นคือเมื่อทิ้งแล้ว) ซึ่งอาจดำเนินการโดยผู้ผลิตเองหรือบุคคลอื่นก็ได้ ศัพท์อื่นที่ใช้ในกิจกรรมนี้ได้แก่ “รับคืน (take-back)” “พันธะผลิตภัณฑ์ (product liability” หรือ “การรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ (product responsibility)”
ขอบเขตความรับผิดชอบ
โดยหลักการแล้ว วิธีที่ดีที่สุดในการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตคือการเช่าซื้อ ด้วยวิธีนี้ ผู้ผลิตยังคงเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ ดังนั้นความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์จึงยังไม่หมดไป บริษัทหลายแห่ง เช่น ซีร็อกซ์ ใช้การเช่าซื้อกับผลิตภัณฑ์ของตน เพราะการเช่าซื้อทำให้บริษัทสามารถควบคุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ได้ทั้งหมด สามารถซ่อมแซมและใช้ซ้ำชิ้นส่วนต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามการกระทำเช่นนี้ ไม่สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์อีกหลายประเภท จึงต้องใช้วิธีการอื่นแทน เช่น
- ความรับผิดชอบทางกายภาพ โดยผู้ผลิตมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว หรือผลกระทบจากผลิตภัณฑ์โดยการพัฒนาทางเทคโนโลยีหรือปรับปรุงการบริการ
- ความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ คือผู้ผลิตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียเมื่อหมดอายุการใช้งาน (อันได้แก่การจัดเก็บ ผ่านกระบวนการ บำบัดหรือกำจัด)
- ความรับผิดชอบต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ ทั้งในระหว่างการผลิต การใช้งานและการกำจัดทำลาย เป็นของผู้ผลิต
ความรับผิดชอบเรื่องข้อมูล โดยผู้ผลิตต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และผลที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ ในทุกขั้นตอนตลอดวงจรชีวิตของมัน