
ผมได้หนังสือเล่มนี้เป็นอภินันทนาการจากคุณสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ผู้เขียน ซึ่งนอกจากแถมลายเซ็นตัวเองมาให้แล้ว ยังมีลายเซ็นของคุณจินตนา แก้วขาว นักสู้หญิงเหล็กแห่งบ้านกรูดแถมมาด้วย ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูง และหยิบขึ้นมาก็อ่านรวดเดียวจบแบบวางไม่ลง (Unputdownable)
หนังสือเล่ม “ชาวประจวบขอกำหนดอนาคตตนเอง” พิมพ์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2553 จำนวน 5,000 เล่ม อาจเรียกได้ว่าใช้เวลาเขียนกว่า 10 ปี ก็ว่าได้ เรื่องเวลาในการเขียนนี้ผมยกอุปมาขึ้นมาเอง เพราะถ้าเราอ่านจนจบ จะพบว่านี่คือผลงานทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของ “ชาวบ้านเสื้อเขียว” ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นับตั้งแต่มีโครงการพลังงานถ่านหินสกปรกเกิดขึ้นในบ้านกรูดและบ่อนอกเมื่อ 13 ปีก่อน
ที่เรียกว่าเป็นผลงานทางประวัติศาสตร์มิใช่เพียงเพราะว่าเป็นเรื่องเล่าในอดีต หากแต่บรรจุวิสัยทัศน์แห่งอนาคตเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยมและมุ่งมั่น ตามชื่อของหนังสือ และไม่มีใครสามารถทำได้เช่นนี้ นอกจาก “ชาวบ้านเสื้อเขียว”
หนังสือเล่าว่าประจวบคีรีขันธ์มีอะไรอยู่บ้าง แล้วขยายความว่าแล้วสิ่งที่ประจวบคีรีขันธ์มีอยู่กลายเป็นประเด็นขัดแย้งได้อย่างไร เมื่อพิจารณาถึงกระบวนทัศน์การพัฒนากระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนพัฒนาภาคใต้ การขยายอุตสาหกรรมเหล็กและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า และนำเสนอตบท้ายด้วยว่า ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่พูดกันมาเป็นเวลา 30-40 ปี นั้นทำได้อย่างไร จะปรับแผนพัฒนาภาคใต้อย่างไร ที่นำไปสู่สังคมปรองดองและเป็นธรรม
เป็นการสังเคราะห์ประสบการณ์การต่อสู้และยั่วแย้งข้อมูลของหน่วยงานรัฐ อย่างเช่น สภาพัฒน์ฯ แบบกินขาดและโดนใจขาโจ๋เป็นอย่างยิ่ง !
หนังสือเล่มนี้ยังบรรจุประสบการณ์ตรงของชุมชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและชี้ให้เห็นด้วยว่าจะแก้ไขมันได้อย่างไร
“โลกร้อนแก้ได้ด้วยมือและตีนของพวกเราทุกคน” เออ…ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ตามสไตล์ของชาวเสื้อเขียวแห่งประจวบฯ
ที่เด็ดที่สุดน่าจะเป็น การเล่าเรื่องเส้นทางสาย “สโลว์ฟู้ด” ของชาวเสื้อเขียว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของเรื่องที่ต้องก้มหัวคารวะ เท่านั้นยังไม่พอยังแถมสูตรการทำอาหารเด็ด ๆ มาให้ด้วย
หนังสือตบท้ายเรื่องสโลว์ฟู้ดด้วยการแถม “เมนูยัดเยียด (ไม่อยากกินก็ต้องกิน)” คือ ผัดฉ่าโรงไฟฟ้าบ่อนอก และส้มตำโรงไฟฟ้านรกครกแตก อันนี้ต้องยกนิ้วให้ในความคิดสร้างสรรค์สุด ๆ

หนังสือปิดท้ายด้วยการหยิบยกวาทะของผู้นำชุมชนชาวเสื้อเขียว ซึ่งจะขอขกตัวอย่างวาทะของคุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ที่กล่าวว่า
“ชาวบ้านตื่นรู้…รัฐบอกว่า…ต้องสร้างความเข้าใจ
ชาวบ้านเท่าทัน…รัฐบอกว่าไม่มีเหตุผล
ชาวบ้านไม่ยอม…รัฐบอกว่าดื้อแพ่ง
ชาวบ้านลุกขึ้นสู้…รัฐบอกว่าเป็นกบฎ ต้องการเป็นรัฐอิสระ
คนทั่วไปมักพูดถึงของดีของแต่ละจังหวัดว่ามีทรัพยากรหรือผลผลิตอะไรบ้าง สำหรับประจวบฯ ของดีที่คนทั่วไปพูดถึงอย่างโดดเด่นคือคำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” และชาวบ้านที่อื่นไม่เหมือนชาวบ้านประจวบฯ แต่เราคิดว่าถ้าชาวบ้านที่อื่นได้เรียนรู้เล่ห์เหลี่ยมของรัฐ ก็สามารถเป็นเหมือนชาวบ้านประจวบฯ ได้เช่นกัน
ใครที่ยังไม่ได้อ่าน ลองหามาอ่านดู อ่านเถอะ แล้วจะพบว่า ท่ามกลางความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของชาวบ้านประจวบฯ เราจะพบความหวัง