เด็กเลี้ยงแกะและมหันตภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมา – กรณีหายนะภัยจากแผ่นดินไหว-สึนามิ-นิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก
ในห้วงแห่งวิกฤตที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับหายนะภัยทางธรรมชาติและนำไปสู่ความล้มเหลวในการกอบกู้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมามาจนถึงปัจจุบันนี้ ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งแปลมาจากภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ชื่อเรื่องว่า Fukushima Genpatsu Merutodaun (Fukushima Nuclear Power Plant Meltdown) เขียนโดย ทากาชิ ฮิโรเซ (Takashi Hirose) ซึ่งเขียนหนังสือวิจารณ์อุตสาหกรรมนิวเคลียร์sหลายเล่ม เช่น Tokyo ni, Genpatsu wo!(Nuclear Plants in Tokyo, 1981), Genshiro Jigen Bakudan(Nulcear Reactor Timebomb, 2010)
ส่วนหนังสือ Fukushima Genpatsu Merutodaun (Fukushima Nuclear Power Plant Meltdown) ตีพิมพ์เมื่อปี 2554 โดย Ashahi Shimbun Publications และแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยทีมงานที่ประกอบด้วยคน 9 คน และจัดจำหน่ายออนไลน์(kindle book) หนังสือเขียนด้วยภาษาง่ายๆ เพื่ออธิบายความสลับซับซ้อนของการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่น และเบื้องหลังของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ญี่ปุ่นที่นำมาผูกร้อยกันเป็นเรื่อง
ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ที่ฮิโรเชหยิกยกขึ้นมาคือ วิกฤตหลายด้านที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ เขาบอกว่า เป็นการอธิบายสถานการณ์ที่ดูเหมือนที่จะเข้าใจยาก เต็มไปด้วยคำศัพท์วิชาการซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายพูดออกทีวีหรือเขียนลงหนังสือพิมพ์ด้วยความเข้าใจแบบง่ายๆ ดังนี้
1) หายนะภัยที่เกิดขึ้น ณ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมาเป็นหายนะภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นจากความเชื่อถือที่ผิดพลาด ต่างจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ ที่อาจอยู่เหนือความคาดเดาและความเข้าใจของมนุษย์ หายนะภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมาครั้งนี้สามารถคาดการณ์และป้องกันได้ง่าย เจ้าหน้าที่ของบริษัท TEPCO (Tokyo Electric Power Company) มักจะกล่าวในทำนองที่ว่า “เราไม่อาจจินตนาการได้ว่าแผ่นดินไหวหนึ่งในรอบพันปีจะเกิดขึ้น” หรือ “สึนามิอยู่เหนือความคาดหมายของเรา” คำพูดเหล่านี้คลุมเครือมาก ฮิโรเชได้อธิบายรายละเอียดในหนังสือโดยแสดงให้เห็นว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่พร้อมกับอุบัติภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอะไรบางอย่างที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของความน่าจะเป็น ความน่าจะเป็นเหล่านี้ได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากเจ้าหน้่าที่ของ TEPCO การใช้คำพูดที่ว่า “อยู่เหนือความคาดหมาย” ของรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัท TEPCO นั้น ไม่สมควรอย่างยิ่ง อุบัติภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมาสามารถป้องกันได้ การที่ประชาชนซึ่งตกเป็นเหยื่อของสึนามิได้พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวเพื่อลดความสูญเสียกลับต้องถูกซ้ำเติมด้วยรังสีนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่สะเทือนใจ
2) คำว่า Genpatsu Shinsai (Nuclear Power Plant Earthquake Disaster) – ฮิโรเซใช้คำนี้ในภาษาญี่ปุ่นจากศาสตราจารย์อิชิบาชิ กัตสุฮิโก ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวที่มหาวิทยาลัยโกเบที่คาดการณ์เรื่องภัยพิบัติจากแผ่นไหวที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และแนะนำให้มีการเตือนภัยในช่วงปลายทศวรรษ 1990 คำว่า Genpatsu Shinsai โดยตัวมันเองเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ยังไม่มีคำแปลที่ตรงตัวในภาษาอังกฤษ ความหมายของคำนี้คือ อธิบายถึงสถานการณ์ของการที่ความเสียหายจากแผ่นดินไหวขยายตัวในวงกว้าง และสถานการณ์ได้ถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายขึ้นโดยความเสียหายจากรังสีนิวเคลียร์ และเหตุการณ์ที่ฟูกูชิมาในวันที่ 11 มีนาคม 2554 นั้นเป็นเหตุการณ์แรกที่อธิบาย คำว่า Genpatsu Shinsai ได้เป็นอย่างดี
3) สื่อมวลชนไม่ได้รายงาน “ข้อเท็จจริง” และ “การคาดการณ์” ในกรณีหายนะภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมา ฮิโรเซ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเหตุเกิดขึ้นที่ฟูกูชิมา และสถานการณ์เลวร้ายลงทุกวัน โทรทัศน์และสื่ออื่น ๆ (ในญี่ปุ่น)ยังคงรายงานอย่างต่อเนื่องว่า ไม่มีวิกฤตเกิดขึ้น ไม่มีอะไรต้องกังวล และไม่ได้รายงานเจาะลึกว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ฮิโรเซ ตั้งข้อสังเกตว่า ในรายงานโทรทัศน์ ก็จะมีเพียงนักวิชาการที่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์มาให้ความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนก็ได้แต่รับฟังคำโกหกหลอกลวงและการคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และด้วยเหตุนี้เอง ประชาชนก็ไม่ได้รับข้อมูลใดที่เป็นข้อเท็จจริงและดำรงชีวิตอย่างปกติสุขท่ามกลางขอบเหวแห่งหายนะ และปัจจุบัน ทุก ๆ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญบอกนั้นผิดพลาด และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดได้เกิดขึ้น
4) การคาดการณ์ที่เป็นไปได้ ในบทที่ 4 ของหนังสือ ฮิโรเซ กล่าวถึงเดืิอนมกราคม ปี 1995 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวที่มีชื่อว่า Southern Hyogo Prefectural Earthquake โดยเป็นเหตการณ์หายนะภัยที่ถือว่าหมู่เกาะญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วงแผ่นดินไหวที่บ่อยขึ้น และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว Great Tohoku Earthquake ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากขอบรอยเลื่อนของเปลือกโลกและนำมาซึ่ง Genpatsu Shinsai ฮิโรเซคาดว่า มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า แผ่นดินไหวขนาดที่ใหญ่กว่าจะเกิดขึ้นตรงรอยแยกของเปลือกโลกที่ยังมีพลังอยู่ใต้พื้นดิน และหากมันเกิดขึ้นใต้พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังทำงานอยู่ อะไรจะเกิดขึ้น
5) ในที่สุดหมาป่าก็จะมากินแกะ – ฮิโรเซ ตระหนักว่า การเขียนหนังสือเรื่อง Fukushima Genpatsu Merutodaun (Fukushima Nuclear Power Plant Meltdown) หลังจากเกิดหายนะภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมา เป็นการเตือนภัยครั้งที่สองของเขาในเรื่อง Genpatsu Shinsai คนทั่วไปอาจมีคำถามว่า “คุณต้องการจะสร้างความแตกตื่นหรือ” ฮิโรเซเห็นว่า “ความแตกตื่น” นั้นเกิดขึ้นเมื่อคนไม่รู้ความจริงต่างหาก
หากเราบอกคนว่า รังสีจะมีไม่มีผลกระทบร้ายแรงในทันที แต่เมื่อปริมาณรังสีเริ่มสร้างผลกระทบ ก็เป็นเวลาที่คนเริ่มตื่นตระหนก คนที่เข้าใจถึงอันตรายอย่างแท้จริงเท่านั้น จึงจะตอบรับและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ฮิโรเซบอกว่าเขาเขียนในสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับภัยจาก Genpatsu Shinsai หรือ Genpatsu Shinsai Symdrome การตัดสินใจขึ้นอยู่กับวิจารณญานของผู้อ่าน ฮิโรเซได้หยิบยกนิทานอิสปเรื่อง เด็กเลี้ยงแกะ โดยเปรียบเปรยให้ตัวเขาเหมือนเด็กเลี้ยงแกะที่วิ่งตะโกนบอกชาวบ้านว่าหมาป่าจะมากินแกะ แต่หมาป่าก็ไม่มา จนกระทั่งหมาป่าปรากฏตัวขึ้นจริง เด็กเลี้ยงแกะพยายามร้องให้ช่วยก็ไม่ใครเชื่อ และแกะก็ถูกกินทั้งฝูง
สำหรับ ฮิโรเซ แม้เขาเปรียบตัวเองเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ แต่หนังสือที่เขาเขียนนั้นไม่มีคำโกหก หมาป่าอาจไม่มาในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าหมาป่าจะไม่มา เพียงแต่อาจใช้เวลาอีกนิดหน่อย ในที่สุดหมาป่าก็มา เมื่อเกิดเหตุขึ้น หากเราไม่มีมาตรการเตรียมพร้อม ก็ไม่เพียงเรื่องของชีวิตลูกแกะ แต่เป็นเรื่องของชีวิตทุกชีวิต
หนังสือ Fukushima Genpatsu Merutodaun (Fukushima Nuclear Power Plant Meltdown) เขียนโดย ทากาชิ ฮิโรเซ (Takashi Hirose) ฉบับภาษาอังกฤษหาสั่งซื้อได้จาก http://www.amazon.com/Fukushima-Meltdown-Earthquake-Tsunami-Nuclear-Disaster-ebook/dp/B005OD75J2