ธารา บัวคำศรี
นำเสนอในงานครบรอบ 20 ปี ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2557 ณ ห้องดวงกมล โรงแรมเดอะสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร
ท่านผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนทุกท่าน
โจทย์ชี้อนาคตสิ่งแวดล้อมไทย “ไม่เอาถ่านหิน เอาอะไรมาแทน” นั้นมีความท้าทายอย่างยิ่งครับ การที่ถ่านหินมีบทบาทสำคัญนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีก่อนและกลายมาเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของโลกราวร้อยละ 40 ความเข้าใจที่ว่าแหล่งสำรองถ่านหินในโลกยังมีให้เราใช้ไปอีกนับร้อยปี[1] จนไปถึงการโหมโฆษณาถ่านหินสะอาดเพื่อดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศเพื่อเป็นแนวทางบรรเทาผลกระทบภาวะโลกร้อน
ในประเทศไทย สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ประมาณร้อยละ 20 ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมีมากกว่าร้อยละ 70 ทุกรัฐบาลและผู้วางแผนนโยบายพลังงานพยายามสนับสนุนถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นนัยว่า เพื่อกระจายเชื้อเพลิงและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง เราก็ได้เห็นการเคลื่อนไหวของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแม่เมาะ เวียงแหง ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรมราช สงขลา ตรังและกระบี่ ที่ยืนหยัดปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการคุกคามของถ่านหิน
ในที่นี้ ผมขออ้างถ้อยคำที่มาร์ก แอนโทนี ตัวเอกในบทละครของเชคสเปียร์ที่กล่าวว่า “ผมไม่ได้ตั้งใจมาวันนี้เพื่อสรรเสริญความคิด(การเผาไหม้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า) แต่มากระตุ้นให้ยกเลิกความคิดนี้” แต่ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยกับผมหรือไม่ ผมหวังว่าทุกท่านคงเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “การถกเถียงปัญหาโดยไม่ต้องหาข้อยุติ ดีกว่าพยายามหาข้อสรุปโดยไม่มีการถกเถียงกันเลย”
ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษมากที่สุด เป็นแหล่งกำเนิดหลักของคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ในชั้นบรรยากาศ ในแต่ละปีคาร์บอนไดออกไซด์ราว 11,000 ล้านตันทั่วโลกมาจากการเผาใหม้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า ในปี 2548 ในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำมาผลิตไฟฟ้า ถ่านหินปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาร้อยละ 41 และหากยังมีการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ต่อไป การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2573[2]
เราได้เห็นฤทธิ์เดชของสภาพภูมิอากาศสุดขั้วและผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและส่วนต่างๆ ของโลก เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เป็นอันตรายที่สุดที่สุดรวมถึงภัยแล้งอันยาวนาน มหาพายุใต้ฝุ่นและอุทกภัย และการล่มสลายของระบบนิเวศที่สนับสนุนคำจุนชีวิต อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะต้องเพิ่มขึ้นไม่มากไปกว่า 2 องศาเซลเซียส (เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม) รายงานการประเมินฉบับที่ 4 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจะเพิ่มขึ้นสูงสุดภายในปี 2558 และต้องลดลงหลังจากนั้น การรับมือกับการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมีความสำคัญต่อเป้าหมายดังกล่าวอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่าปฏิบัติการหนึ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหิน
ในวิวาทะว่าด้วยถ่านหิน คำถามว่า “แหล่งสำรองถ่านหินโลกจะหมดลงเมื่อไร” และใช้ Reserve-to-Production(R/P Ratio) หรือ อัตราส่วนของทรัพยากรที่นำมาใช้ราคา/เทคโนโลยีปัจจุบันแสดงในรูปการใช้ต่อปี เพื่อคาดการณ์แหล่งสำรองถ่านหิน(และปิโตรเลียม)ในอนาคต นั้นกำลังถูกท้าทายกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
การคาดการณ์ของแหล่งสำรองถ่านหินในอนาคตของอังกฤษในปี พ.ศ.2407 บอกวาถ่านหินมีเหลือเฟือใช้ได้ไปอีก 900 ปี การคาดการณ์ในช่วงศตวรรษต่อมาระบุว่ายังเหลือใช้อีก 500 ปี จนถึงปี พ.ศ.2527 แหล่งสำรองถ่านหินในอังกฤษลดลงเหลือ 90 ปี จนถึงปี 2551 อุตสาหกรรมถ่านหินของอังกฤษซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเข้าสายส่ง ปัจจุบันหายไปโดยสิ้นเชิงอันเนื่องจากการหร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วของแหล่งถ่านหินที่เคยมีเหลือเฟือ
การคาดการณ์ของสำนักธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2500 สรุปว่า สหรัฐอเมริกามีแหล่งถ่านหินสำรองใช้ไปได้อีก 5,000 ปี จนถึงปัจจุบันกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ระบุว่าแหล่งสำรองถ่านหินมีใช้ไปได้อีก 200 ปี
สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริงคือ 1) อัตราการใช้พลังงานและวัสดุต่างๆ ไม่เคยคงที่ 2) เป็นไปไม่ได้เลยในทางกายภาพที่จะรักษาอัตราการขยายตัวของการขูดรีดทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปให้คงที่จนกระทั่งทรัพยากรนั้นหมดลงและ 3) แหล่งสำรองทรัพยากรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อาจเพิ่มขึ้นจากการค้นพบใหม่ จากราคาที่เพิ่มขึ้น หรือเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้สำรวจและผลิต
ในกรณีของการขูดรีดเอาทรัพยากรพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ถ่านหิน เป็นต้น มีความสัมพันธ์กับกฎแห่งการลดน้อยถอยลง (Law of Diminishing Returns) อัตราส่วนของพลังงานที่ได้กลับมากับพลังงานที่ลงทุนไป(Ratio of Energy Returned on Energy Invested-EROEI) ก็มีแนวโน้มลดลงตามทรัพยากรที่กำลังหมดไป แหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ในฐานะเป็นแหล่งพลังงานก็จะไร้ประโยชน์เมื่อพลังงานที่เราใส่เข้าไปเพื่อขูดรีดมันออกมานั้นเท่ากับหรือมากกว่าพลังงานที่ได้จากการเผาใหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเหล่านั้น[3]
นอกจากวิกฤตพลังงานในแง่ความผันผวนของราคา เรามีวิกฤต “การขาดแคลนไฟฟ้า” หลายประเทศเผชิญกับ “ไฟฟ้าดับสนิท (Blackout)” หรือ “ไฟฟ้าติดๆ ดับๆ (Brownout)” ซึ่งเป็นโลกาภิวัตน์ของระบบพลังงานโลกที่มีรากฐานอยู่บนการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ ไม่ว่าจะผูกขาดโดยรัฐหรือถูกยึดกุมโดยภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในอเมริกาและยุโรป หรือประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชียอย่างเช่นจีนและอินเดีย ประเทศนับร้อยทั่วโลกต่างเผชิญกับภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับสนิททั้งนั้น
วิกฤตไฟฟ้าดับสนิทหลายกรณีทั่วโลกมาจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงที่ถือว่ามีเหลือเฟือที่สุดในโลกนั่นก็คือ “ถ่านหิน” !!!
สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน 50 แห่ง เพราะถ่านหินที่นำมาป้อนเข้าระบบนั้นไม่เพียงพอ วิกฤตไฟฟ้าดับสนิทในจีนที่เกิดขึ้นหลายครั้งเป็นภัยคุกคามการพัฒนาเศรษฐกิจ เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างกั้นแม่น้ำในแถบเชิงเขาหิมาลัยของอินเดียไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพราะภัยแล้งอันมีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน อินเดียพยายามผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมและแผงเซลสุริยะเพิ่มมากขึ้น แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ต้องนำถ่านหินจำนวนมหาศาลมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นและการขาดแคลนถ่านหินในระดับโลก
ที่แอฟริกาใต้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองถ่านหิน เหมืองทองและเหมืองเพชร ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านพลังงานและการขาดแคลนไฟฟ้า
ในอังกฤษประสบกับไฟฟ้าดับเพิ่มขึ้นบ่อยครั้ง นักวิเคราะห์อธิบายโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าของอังกฤษว่าเป็นระบบพลังงานแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ห่วยแตกมาก ภาคอุตสาหกรรมระบุว่าต้องใช้เงินลงทุนถึงแสนล้านปอนด์ในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการลงทุนโครงการของประเทศที่ผ่านม
บางประเทศที่สามารถซื้อน้ำมันราคาแพงมาใช้นั้นไม่มีไฟฟ้าเพียงพอที่จะป้อนให้โรงกลั่นน้ำมันให้ทำงานได้ ประเทศร่ำรวยพลังงานอย่างเวเนซุเอลาและอิหร่านก็ไม่หนีไม่พ้นจากภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับ ถึงแม้ประเทศทั้งสองมีการส่งออกน้ำมัน
ราคาถ่านหินในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงกลางปี พ.ศ. 2549 และ 2551 แหล่งถ่านหินที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะกลายเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงทางพลังงานของหลายประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาถ่านหินถึงขั้นเสพติด ปัญหาของการนำถ่านหินมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนและความไม่แน่นอนการในการขนส่งจากราคาน้ำมันที่ผันผวนในตลาดโลก
แหล่งสำรองถ่านหินที่มีคุณภาพสูงอย่างแอนทราไซต์ บิทูมินัสและซับบิทูมินัสก็กำลังหร่อยหรออย่างรวดเร็วและกลายเป็นปัจจัยสำคัญของความล่าช้าในการขนส่งถ่านหินจากเหมืองในประเทศหนึ่งไปยังโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ปลายทางในอีกประเทศหนึ่ง ความล่าช้าในการขนส่งได้เพิ่มต้นทุนและผนวกเข้าไปในราคาไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย และความล่าช้าของการขนส่งถ่านหินก็เป็นสาเหตุหนึ่งของ “ภาวะไฟฟ้าดับสนิท” ที่เกิดขึ้นในจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาถ่านหินถึงขั้นเสพติดดังที่กล่าวมา
หากเรายังคงเดินไปในทิศทางนี้ ผลที่ตามมานั้นยากที่จะประเมิน เว้นแต่ว่าสังคมไทยและสังคมโลกเองจะปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ด้านพลังงานที่แตกต่างเกือบจะโดยสิ้นเชิงกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อการหร่อยหรอของแหล่งสำรองถ่านหินที่นำมาผลิตไฟฟ้าและผลกระทบที่เป็นต้นทุนจริงของถ่านหินปรากฏชัดเจนแจ่งแจ้งในมโนทัศน์ของผู้คนและผลกระทบอันเลวร้ายแผ่ขยายเพิ่มขึ้นปีต่อปี ในอีกสองหรือสามทศวรรษข้างหน้า อารยธรรมของมนุษย์อาจจะเป็นถึงจุดที่เรียกว่า “ภาวะไฟฟ้าดับโดยสิ้นเชิง (final blackout)
เราต้องไม่ลืมว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้ แหล่งถ่านหินในประเทศไทยที่สามารถขุดขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามีอยู่กระจัดกระจาย เหมืองลิกไนต์ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อสิ้นสุดอายุในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะเป็นเหมืองถ่านหินแบบเปิดที่ลึกที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยลึกลงไปในผิวโลกนับเป็นกิโลเมตร
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเองก็มีความพยายามจะต่ออายุโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะโดยการเปิดเหมืองถ่านหินใหม่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงราย และทดแทนโรงไฟฟ้าหน่วยใหม่เข้าไป ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีบริษัทบ้านปู มหาชน จำกัด อุตสาหกรรมถ่านหินยักษ์ใหญ่ของไทยร่วมทุนนั้นใกล้จะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีและส่งไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งไฟฟ้าอันหิวโหยของประเทศไทย
ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาในประเทศไทย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) ฉบับทางการสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการวางแผนที่เป็นปัญหาถึงขั้นวิกฤต การเลือกสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ก่อมลพิษ สร้างความขัดแย้ง มีต้นทุนและความเสี่ยงสูงแทนที่จะเป็นทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า สะอาดกว่าและถูกกว่านั้น ในท้ายที่สุดไม่เพียงแต่ขัดกับนโยบายพลังงานของประเทศไทย และแต่ยังขัดกับผลประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอีกด้วย
แนวนโยบายพื้นฐานด้านพลังงานของรัฐบาลไทยตามที่บัญญัติไว้ใน พรบ.ประกอบกิจการพลังงานซึ่งครอบคลุมมิติความมั่นคงทางพลังงานทั้งในแง่ของปริมาณ(การกระจายแหล่งพลังงานและการลดการพึ่งพาพลังงงานนำเข้า) ราคา(การบริการที่สามารถจ่ายได้และการลดความผันผวนของราคา) ประสิทธิภาพ(การใช้ การแปรรูปและประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ) สิ่งแวดล้อม(การรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสำหรับคนรุ่นต่อไป) นั้นแทบไม่มีความเชื่อมโยงเลยกับการวางแผนกิจการพลังงานในทางปฏิบัติ ผลคือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีมาในอดีตเน้นการจัดหาพลังงานมากเกินไปซึ่งต้องแลกมาด้วยความหายนะด้านสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและพลังงานโดยรวมและราคาพลังงานที่ผู้บริโภคต้องแบกรับ
แทนที่สังคมจะถูกบังคับเลือกให้ไปไตามแนวทางนี้อย่างเดียว มีแนวทางรับมือกับวิกฤตไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นค่าไฟแพงหรือไฟฟ้าขาดแคลนหลายแนวทางด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การประหยัดพลังงานโดยติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง และการส่งเสริมระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์
ระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ซึ่งพลังงานที่ผลิตได้เกิดขึ้น ณ บริเวณหรือใกล้กับจุดที่มีการใช้งาน อาจประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือทั้งสองอย่างเพื่อผลิตไฟฟ้า ความร้อนหรือทั้งสองอย่างเพื่อส่งจ่ายให้กับบ้านเรือนหรือธุรกิจในท้องถิ่น ระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์มีประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อมคือลดการสูญเสียในระบบสายส่ง การการใช้เชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้น้ำ มีประโยชน์ทางเชิงเศรษฐกิจโดยช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาระบบสายส่ง ลดความเสี่ยงทางการเงินของการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและไปด้วยกันกับแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน มีประโยชน์ในทางความมั่นคงด้านพลังงานเช่นการกำกับให้มีผลิตและการจ่ายไฟฟ้าที่พอเพียงเพื่อชดเชยการวางแผนการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าหรือการขัดข้องอย่างไม่คาดหมาย
ระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์มีประโยชน์ในทางการเมืองและสังคมคือ ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตและกระจายไฟฟ้าจากแหล่งผลิตของตนเอง ส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชนและภูมิภาคในการวางแผนพลังงาน เป็นแม่แบบพลังงานในอุดมคติที่มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจเรื่องพลังงานในระดับท้องถิ่น มีการนำความเห็นของท้องถิ่นและภูมิภาคเพื่อนำเสนอให้กับรัฐบาลประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ประเทศไทยออกมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดเล็กมาก(SPP, VSPP) ตั้งแต่ปี 2534 ซึ่ง Adder เป็นมาตรการสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการขายไฟเข้าสู่ระบบประมาณ 3,928 เมกะวัตต์ซึ่งรวมทั้งหมด 380 โครงการ แต่ยังมีโครงการที่ยังไม่สามารถขายไฟเข้าระบบได้อีกมาก อุปสรรคสำคัญเกิดจากภาครัฐ (เช่น ความล่าช้าในขั้นตอนการขอใบอนุญาต) ซึ่งหากโครงการเหล่านี้สามารถขายไฟเข้าสู่ระบบได้จะมีศักยภาพถึง 4,000 เมกะวัตต์ สามารถนำมาช่วยรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงสูงสุด(peak) คือในช่วงกลางวันซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงต่ำสุดถึง 7,000 เมกะวัตต์
ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีกำลังผลิตติดตั้งรวมกันทั้งหมด 33,321 เมกะวัตต์ เปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 26,598 เมกะวัตต์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราไม่ได้เผชิญกับวิกฤตไฟฟ้าอย่างที่พยายามจะโฆษณากัน
วิกฤตไฟฟ้าดับไม่เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม หากไม่มีการเตรียมความพร้อมของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่างๆ รวมทั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนอื่นๆ จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีกกี่แห่งก็ยังจะเสี่ยงไฟฟ้าดับอยู่ดี
ส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ช่วงปี 2555-2562 ที่มีแผนชัดเจนแล้วก็รวมถึงพลังงานหมุนเวียน 6,095 เมกะวัตต์ การผลิตร่วมไฟฟ้าและความร้อน(หรือโคเจนเนอเรชั่น) อีก 5,107 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกันแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 11,202 เมกะวัตต์หากรวมแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของกระทรวงพลังงานตามมติคณะรัฐมนตรี 27 ธันวาคม 2554 ที่เห็นชอบเป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าในปี 2573 เท่ากับ 96,653 ล้านหน่วย เข้าไปด้วย เราจะลดความต้องการไฟฟ้าได้ 17,470 เมกะวัตต์ และลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ 20,091 เมกะวัตต์ (หรือประมาณ 25 โรง)
ประเทศไทยอยู่แถวหน้าในเรื่องการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดโดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจและการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีกลไกสนับสนุนอย่างเช่น ระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก(SPP) และผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก(VSPP) รวมถึงโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์บนหลังคาที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่สถานะของพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในสังคมไทยจำต้องถูกยกระดับให้เท่าเทียม มิใช่เพียงแต่ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนในตลาดพลังงาน แต่รวมถึงการกลการสนับสนุนเชิงสถาบันและทางกฎหมาย
(ร่าง)พระราชบัญญัติพลังงานทดแทนนั้นยังมีหลักการและเหตุผลที่ไม่ชัดเจน หากปราศจากการออกแบบบนพื้นฐานการปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิ การเข้าถึงและความเป็นธรรมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คงเป็นการยากที่กฏหมายฉบับนี้จะเป็นคำตอบสำหรับอนาคตพลังงานหมุนเวียนของประเทศ และในขณะเดียวกันได้เสนอว่า ร่าง พรบ. ต้องเน้นไปที่การลดและขจัดอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการของนโยบายพลังงานหมุนเวียนทั้งระบบโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ (ก) การเคารพในสิทธิร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (ข) การสร้างสมดุลและพลังสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างการพัฒนาทางเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และ (ค) การกระจายศูนย์อำนาจการตัดสินใจและการเสริมพลังอานาจของท้องถิ่นชุมชนและภาคประชาสังคม
หากนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความชัดเจน เราจะพบว่า อีก 15 ปีนับจากนี้ พลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นกระแสหลัก และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,500,000 ตันต่อปี ลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากกว่า 320,000 ตัน ลดต้นทุนผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพกว่า 18,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเกือบ 35,000 ล้านบาท ลดต้นทุนทั้งการดำเนินการและการบำรุงรักษาซึ่งถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน และประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ 2,500 ล้านบาทและทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 60,000 ตำแหน่งและทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 20,000 ล้านบาทและลดการนำเข้าพลังงานได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท และหากนำมาตรการที่มีต้นทุนถูกที่สุดนั่นคือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้ให้เต็มที่ จะสามารถลดการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ถึง 20,091 เมกะวัตต์(ประมาณ 25 โรง)
ตัวอย่างเช่น จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นมีศักยภาพพลังงานลมอย่างล้นเหลือเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัด แทนการผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน นครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่สำคัญในการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมทั้งบนฝั่งและนอกชายฝั่งของอ่าวไทย โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ที่ 1,294 และ 18,444 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ซึ่งหากวางแผนอย่างเหมาะสมก็เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดภาคใต้
ในปี 2556 แผนปฎิวัติพลังงานแห่งอาเซียนที่เป็นความร่วมมือระหว่างกรีนพีซและองค์การอวกาศของเยอรมนี(DLR) และผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาค ระบุว่า อาเซียนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เข้าสู่ระบบสายส่งได้ถึงร้อยละ 70 ภายใน พ.ศ. 2593 รายงานชี้ให้เห็นว่า การผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ในอดีตนั้นเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบันประชาชนนับแสนนับล้านคนสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลายได้ด้วยตนเองทั้งการเชื่อมต่อและไม่เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง
ตัวเลขการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนของอาเซียนในอนาคตจะมีมูลค่าถึง 2,752,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคิดเป็น 2,698,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และก่อให้เกิดการจ้างงานอย่างน้อยที่สุด 1.1 ล้านตำแหน่งภายในปี พ.ศ.2573 หากเริ่มต้นปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน ณ ห้วงเวลานี้
คำถามว่า “ไม่เอาถ่านหิน เอาอะไรมาแทน” นั้นอยู่ ณ ใจกลางของสถานการณ์อันยากลำบากของสังคมไทยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอารยะ ในการเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและนิเวศที่รออยู่ข้างหน้า ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ประเทศไทยจำต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการพัฒนา แบบจำลองการเติบโตที่เป็นธรรมทางสังคม ยั่งยืนและเป็นพลวัตรทางนิเวศ ที่จำเป็นต่อการสร้างเงื่อนไขทางวัตถุของสังคมที่ดี
การปรับเปลี่ยนเส้นทางการพัฒนาหมายถึงการกระตุ้นให้เกิดการเปล่ียนแปลงนโยบายพื้นฐานบางชุด การลงทุนในด้านทุนมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจสารสนเทศและเศรษฐกิจความรู้ที่กำลังพุ่งทะยาน การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและนวัตกรรมสร้างสรรค์ให้มากที่สุดจะช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางด้วยการ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ประเทศไทยสามารถลดภาวะเปราะบางต่อช็อกจากภายนอกประเทศอันสืบเนื่องจากการพึ่งพาภาคส่งออกมากเกินไปโดยกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศด้วยนโยบายค่าจ้างที่ก้าวหน้า ความยั่งยืนด้านการคลัง และความสมดุลของบัญชีต่างๆ จะช่วยให้การเติบโตมีความยั่งยืนและปรับตัวได้ดี การอ้าแขนรับศักยภาพของ Green Growth เอื้อต่อการกระตุ้นผลิตภาพโดยอาศัยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานด้วยการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้อย่างผสมผสาน
อย่างไรก็ตาม ในบรรยากาศแบ่งขั้วท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนให้ความสนใจน้อยมากต่อปัญหาสำคัญ เช่น ระบบพลังงานในอนาคต “นักการเมือง” เกือบทุกคนมัวแต่หมกมุ่นกับผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ทางการเมืองระยะสั้น ส่วนคนที่ใส่ใจผลประโยชน์ส่วนรวมระยะยาวแทบไม่ค่อยได้อยู่ในอำนาจยาวนาน อีกท้ังการเปล่ียนแปลงนโยบายมักถูกรัฐบาลชุดต่อมาหรือศาลล้มคว่ำพลิกกลับอยู่ร่ำไป
เพื่อตอบคำถามที่ถูก เราจำเป็นต้องสร้างชุมชนนโยบายด้านพลังงานและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กันไป[4] ธรรมชาติของการเมืองมีลักษณะปฏิกิริยา เฉพาะกิจ ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทิศทางบ่อยและรวดเร็วเสมอมา ส่วนกระบวนการกำหนดนโยบายน้ันสามารถกำหนดทิศทางให้มุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวได้ โดยทำให้เป็นกระแสของการตัดสินใจทางการเมืองโดยนักวางนโยบายหลายคนทำงานคู่ขนานและสืบทอดกัน และทำให้เปิดกว้างขึ้นมากกว่ายึดติดอยู่กับสถาบันการเมืองทางการที่ครองอำนาจอยู่
การมีชุมชนนโยบายเป็นวิธีการที่ดีกว่าในการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการการเปิดกว้างต่อทุกภาคส่วนกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ชุมชนนโยบายมีเป้าหมายในการดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในแต่ละภาคส่วนมาร่วมสนทนากันอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนนโยบายด้านพลังงานสามารถรวบรวมข้าราชการจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พรรคการเมือง สมาชิกรัฐสภา ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม สหภาพแรงงาน สถาบันคลังสมอง สถาบันมหาวิทยาลัย เอ็นจีโอที่คอยเฝ้าระวัง และนักกิจกรรมรากหญ้ามาร่วมประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด การถกเถียงเชิงนโยบายเช่นนี้จำเป็นต้องมีเจ้าภาพหลากหลายและครอบคลุมหัวข้อที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ชุมชนนโยบายจะเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ปฏิบัติการทางสังคมและทำหน้าที่เป็นสนามฝึกสาหรับผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายในอนาคต ชุมชนนโยบายมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้กำหนดนโยบายรุ่นเยาว์ในการพัฒนาความเชี่ยวชาญและ ปลดแอกตัวเองจากผู้อุปถัมภ์ในพรรคการเมือง[5]
ยุคถ่านหินนั้นจะหมดลง แม้ว่าแหล่งสำรองถ่านหินของโลกจะยังคงอยู่ ต้นทุนผลกระทบภายนอกจากการนำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าทำความเสียหายให้กับสภาพภูมิอากาศโลกและสังคมนั้นสูงเกินกว่าที่จะแบกรับ ถ่านหินอาจจะมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ช่วงเวลานั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เราต้องร่วมมือกัน “ปฏิวัติพลังงาน” ที่ขับเคลื่อนโดยระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและกระจายศูนย์ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ กู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเราทั้งในปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต
————–
[1] แหล่งสำรองถ่านหินที่พิสูจน์แล้วทั่วโลกนั้นมีมากกว่า 89.4 แสนล้านตัน หรืออีกนัยหนึ่งจะมีถ่านหินให้เราใช้มากกว่า 190 ปี (ที่มา : World Coal Institute, 2005 อ้างใน Richard Heiberg “Blackout : Coal, Climate, and the Last Energy Crisis”, New Society Publishers, 2009.
[2] รายงาน “ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร” บรรณาธิการแปลและเรียบเรียง: ธารา บัวคำศรี จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ www.greenpeace.or.th มิถุนายน 2550
[3] Richard Heiberg “Blackout : Coal, Climate, and the Last Energy Crisis”, New Society Publishers, 2009.
[4] ในการประชุมภาคีครั้งที่ 20 (COP20) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่ประเทศเปรูระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ รัฐบาลไทยมีแผนที่จะประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม “แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NationallyAppropriate Mitigation Actions: NAMAs)” ซึ่งเป็นการประกาศเป้าหมายโดยสมัครใจ ตามข้อตกลงโคเปนเฮเกน (Copenhagen Accord) ที่มีขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 15 เมื่อปี 2009 ทั้งนี้ เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รัฐบาลไทยจะไปประกาศคือ 7% ภายใน 2020 (จากปีฐาน 2005) ในภาวะปกติ และ 20% หากมีการช่วยเหลือจากต่างประเทศ … อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้และยังไม่ได้รับการถกเถียงกันในวงกว้างในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่ารัฐบาลไทยจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้บรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายดังกล่า และใคร ในภาคส่วนไหน จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายฯ ขณะเดียวกันในช่วงสองปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินการปรับแก้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP: Power Development Plan) ซึ่งฉบับที่ประกาศใช้ล่าสุดตั้งแต่ปี 2555 คือ PDP2010 แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งในการนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศเจตจำนงค์อย่างชัดเจนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึนอีก 10,000 เมกกะวัตต์ ด้วยเหตุผลว่า ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของการผลิตไฟฟ้าของประเทศในขณะนี้กำลังจะหมดไปและมีราคาแพงขึ้น จึงต้องเพิ่มการใช้ถ่านหินเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศ การผลักดันพลังงานถ่านหินในทางนโยบายนี้ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเชื่อมโยงกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยอย่างไร http://www.prachatai.com/activity/2014/12/56827
[5] Marc Saxer, “In the Vertigo of Change – How to Resolve Thailand’s Transformational Crisis”, สำนักพิมพ์ Openworlds, ธันวาคม 2557.