แม้เราสูดอากาศเข้าไปเต็มปอดในวันที่อากาศดูแจ่มใส เกือบแน่นอนว่าเราหายใจเอาอนุภาคของแข็งและละอองของเหลวเข้าไปด้วย สสารที่มีอยู่ทั่วไปนี้คือ “ละอองลอย(aerosols) ซึ่งพบได้ทุกหนทุกแห่งในอากาศเหนือผิวมหาสมุทร ทะเลทราย เขตเทือกเขา ผืนป่า ทุ่งน้ำแข็งและระบบนิเวศทุกๆ แห่ง

ภาพจากกล้องโทรทัศน์อิเล็กตรอนแสดงรูปร่างของละอองลอย(aerosol)ที่หลากหลาย จากซ้ายไปขวา เถ้าภูเขาไฟ  ละอองเกสร ละอองเกลือทะเล ฝุ่น [Micrographs courtesy USGS, UMBC (Chere Petty), and Arizona State University (Peter Buseck).] https://earthobservatory.nasa.gov/features/Aerosols 

หากเราเคยเห็นฝุ่นควันที่กระจายปกคลุมจากไฟป่า เถ้าจากการระเบิดของภูเขาไฟ และฝุ่นละอองในสายลม ที่เราเห็นนั่นแหละคือละอองลอย เครื่องมือวัดบนดาวเทียมหลายดวง รวมถึงในโครงการ Copernicus สามารถบันทึกละอองลอยเหล่านี้ด้วย โดยเป็นมุมมองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงสูงจากพื้นผิวโลกนับร้อยกิโลเมตร ทำให้เราได้ภาพที่ครอบคลุมของละอองลอยที่กระจายไปทั่วชั้นบรรยากาศโลก

แผนที่ด้านบนแสดงการคาดการณ์ของแบบแผนการกระจายตัวของละอองลอยระว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2566 จากข้อมูลการเก็บบันทึกโดย The Copernicus Atmosphere Monitoring Service (CAMS) ซึ่งดำเนินการโดย European Center for Medium-Range Weather Forecasts (ECMWF) ในนามของคณะกรรมาธิการยุโรป ECMWF เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่เป็นอิสระ ได้รับการสนับสนุนจาก 35 รัฐ เป็นทั้งสถาบันวิจัยและบริการปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ผลิตและเผยแพร่การพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขไปยังประเทศสมาชิก

การวัดละอองลอยด้วยเครื่องมือวัดบนดาวเทียมจะวัดจาก ความลึกเชิงแสงของละอองลอย (aerosol optical thickness หรือ aerosol optical depth – AOD) เป็นการวัดปริมาณละอองลอยทั้งหมดในแนวดิ่งของชั้นบรรยากาศ การคาดการณ์รายวันของ CAMS ให้ค่า AOD ทั้งหมดรวมถึงเกลือทะเล ฝุ่นทะเลทราย สารอินทรีย์ คาร์บอนดำ และละอองลอยของซัลเฟต

การวัดอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าอนุภาคละอองลอยจะกำหนดว่าชั้นบรรยากาศจะสะท้อนและดูดกลืนแสงที่ตามองเห็นและแสงอินฟาเรดอย่างไร ความลึกเชิงแสงที่น้อยกว่า 0.1 (สีฟ้าซีดสุด) นั้นสภาพท้องฟ้าจะโปร่งใสและมีความสามารถมองเห็นได้มากที่สุด ถ้าความลึกเชิงแสงเป็น 3 (สีแดงเข้ม) สภาพท้องฟ้าจะขมุกขมัว

ในกรณีนี้ ละอองลอยที่มีความเข้มข้นสูงในชั้นบรรยากาศเหนือภูมิภาคอาเซียนตอนบนมาจากไฟป่าที่ลุกลามในระบบนิเวศป่าไม้ต่างๆ และการขยายตัวของการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออก(Commodity-driven deforestation)