“ประวัติศาสตร์ไม่ได้สอนสิ่งใด แต่จะลงโทษหากไม่เรียนรู้บทเรียนจากมัน” วลาดีเมียร์ คลูอิเชฟสกี้ (Vladimir Kluichevsky) : นักประวัติศาสตร์ยุคกลางชาวรัสเซีย
ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่มีสัมมาทิฐิซึ่งยืดหยุ่นและสามารถฟื้นตัวได้เร็วคือเครื่องมือเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่ยอดเยี่ยมที่สุด และโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิจฉาทิฐินั้นจะทิ้งให้ผู้คนทั้งหลายตกอยู่ในความยากจนและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน
ในหนังสือ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปลายยุควิคตอเรีย : เอลนิโน ทุพภิกขภัยและการเกิดขึ้นของประเทศโลกที่สาม (Late Victorain Holocusts : El Nino Famines and the Making of the Third World) ไมค์ เดวิส(Mike Davis) ซึ่งเป็นผู้เขียนได้หยิบยกประสบการณ์ของอินเดีย จีนและบราซิลในช่วงศตวรรษที่ 19 เพื่อเปรียบเทียบความอิหลักอิเหลื่อของการพัฒนาร่วมสมัย
เดวิสระบุว่า การบังคับรวบรวมเอาผลผลิตจากเกษตรรายย่อยให้เข้าไปสู่วงจรทางการเงินและสินค้าที่ควบคุมมาจากโพ้นทะเล ได้ทำลายความมั่นคงทางอาหารในขั้นรากฐาน ทิ้งให้คนนับล้านต้องตกอยู่ในความหิวโหยในช่วงปรากฎการณ์เอลนิโน
โดยทั่วไปชาวนาอินเดียมีสิ่งปกป้องจากทุพภิกขภัยที่เกิดจากความไร้เสถียรภาพของภูมิอากาศอยู่ 3 อย่างคือ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เครื่องประดับเงินของครอบครัวและสินเชื่อต่อผู้ให้กู้เงินและผู้จัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของหมู่บ้าน จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งหมดนี้สูญหายไปจากการเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจทางเศรษฐกิจในชนบทและกฎเกณฑ์ทางการค้าของผู้ปกครองชาวอังกฤษ
ภายใต้การปกครองของอังกฤษ “ระหว่างปี 1875 และ 1900 ช่วงปีที่มีทุพภิกขภัยร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย การส่งออกธัญพืชต่อปีเพิ่มจาก 3 ล้านตันเป็น 10 ล้านตัน คิดเป็นจำนวนเท่ากับโภชนาการต่อปีของคน 25 ล้านคน
ปัจจุบัน ความยากจน ความผิดพลาดของการวางแผนการพัฒนาและความไร้เสถียรภาพของภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยเพิ่มความเปราะบางของคนชายขอบไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ถึงกระนั้นประวัติศาสตร์ยังแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบของภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสามารถบรรเทาลงได้ภายใต้ระบอบต่างๆ
ก่อนอังกฤษเข้ายึดครองเกือบทั้งหมดของอินเดีย ผู้ปกครองท้องถิ่นแห่งราชวงศ์โมกุลออกกุศโลบายต่างๆ เพื่อป้องกันทุพภิกขภัย พวกเขาใช้คำสั่งห้ามการส่งออกอาหาร ออกกฎห้ามขึ้นราคาสินค้า การผ่อนปรนภาษี การแจกจ่ายอาหารฟรีโดยไม่มีการบังคับใช้แรงงาน และการตรวจสอบอย่างแข็งขันของการค้าธัญพืชโดยอิงผลประโยชน์ของประชาชน
ถึงแม้ว่ายากที่จะฉายให้เห็นภาพ เดวิดคาดว่าก่อนถึงการยกเครื่องเศรษฐกิจโลกในยุคแสวงหาอาณานิคม “เป็นไปได้ว่าในกลางศตวรรษที่ 18 มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉลี่ยในยุโรปต่ำกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกเล็กน้อย”
ปัจจุบัน อันตรายก็คือว่า กฎเกณฑ์ของการเปิดเสรีทางการค้านั้นได้มาก่อนความมั่นคงทางอาหารและความจำเป็นในการสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ เมื่อชาวนานและแรงงานในไร่นาต้องเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 1850 เรื่อยมา และเป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ปะทะประสานอย่างรุนแรงกับตลาดโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมหาศาล
ในช่วง 120 ปีภายใต้การปกครองของอังกฤษ มีทุพภิกขภัยร้ายแรงเกิดขึ้น 31 ครั้งในอินเดีย แต่ในช่วงกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา มีทุพภิกขภัย 17 ครั้งที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “พื้นฐานความเข้าใจถึงจุดกำเนิดของความไม่เท่าเทียมกันของโลกยุคใหม่…ประชากรในเขตร้อนชื้นสูญเสียรากฐานทางเศรษฐกิจให้กับชาวยุโรปหลังปี 1850 ได้อย่างไร และโยงออกไปไกลถึงการอธิบายว่า ทำไมทุพภิกขภัยจึงสามารถทำให้เกิดการล้มตายครั้งใหญ่ในช่วงปีที่เกิดเอลนิโน…”
แบบแผนที่คล้ายคลึงกันกำลังซ้ำรอยอีกครั้งทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์กำลังลงโทษเราที่ไม่เรียนรู้บทเรียน