นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างเที่ยงตรง ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศอันสลับซับซ้อนที่มีสมการคณิตศาสตร์นับร้อยซึ่งใช้เป็นตัวแทนของกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการไหลเวียนของบรรยากาศ การระเหยของน้ำและการตกของฝนและหิมะ เป็นต้น เมื่อแบบจำลองเหล่านี้ทำงานอยู่บนซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ซึ่งมีขนาดเท่ากับสนามเทนนิสหลายสนามรวมกัน ก็ทำให้เราทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นเมื่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกสะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้น
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) นำเสนอผลลัพธ์จากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศใว้ในบทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบาย (Summary for the Policy Maker) ในรายงานการประเมินครั้งที่ 4 (the Fourth Assessment Report 2007) โดยคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1-6.4 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจก่อให้เกิดการพังทลายของระบบนิเวศและสังคมของมนุษย์ และระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 0.18-0.59 เมตร คนนับล้านบนหมู่เกาะ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำต้องไร้ที่อยู่อาศัย
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลดังกล่าวนั้นเป็นเพียงผลจากการขยายตัวของมหาสมุทรอันเนื่องมาจากความร้อน (thermal expansion)เป็นหลัก ยังไม่รวมถึงอิทธิพลที่มาจากการละลายของพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์(Greenland Ice Sheet) และแอนตาร์กติกตะวันตก (Western Antractica Ice Sheet) การศึกษาหลายชิ้นเสนอว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส การละลายของพืดน้ำแข็งที่กรีนแลนด์จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหวนกลับ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทั่วโลกถึง 7 เมตร เมืองใหญ่ตามชายฝั่ง เช่น ลอนดอน นิวยอร์ค กรุงเทพฯ และบังคลาเทศครึ่งประเทศจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ และหากพืดน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกตะวันตกเริ่มละลายอย่างรวดเร็ว ชายฝั่งทะเลของโลกจะแตกต่างไปจากที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นอย่างมาก สิ่งที่ยังไม่แน่นอนก็คือมันจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน นักธารน้ำแข็งวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่าต้องใช้เวลาหลายศตวรรษกว่าพืดน้ำแข็งที่ปกคลุมกรีนแลนด์จะละลายจนหมด ถึงแม้ว่าเจมส์ ฮันเสน(James Hansen)นักภูมิอากาศวิทยาแห่งองค์การนาซาเสนอว่ากระบวนการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเร็วกว่านี้มาก
ผลจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ของ Hadley Center ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเป็น 3 องศาเซลเซียส ระบบนิเวศป่าฝนอะเมซอน (Amazon Rainforest Ecosystem) จะถึงกาลล่มสลายซึ่งก็คือหายนะภัยของความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญสิ้นของสิ่งมีชีวิตนับล้านสายพันธุ์
ในฐานะสิ่งมีชีวิต เรามีบทเรียนจากอดีต การศึกษาทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่(Mass Extinction) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายยุคเพอร์เมียน (Permian Period) หรือเมื่อประมาณ 251 ล้านปีก่อน เสนอว่า อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใดประมาณ 6 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟและก๊าซมีเทนที่ปล่อยจากรอยแยกของพื้นมหาสมุทร นั้นทำให้สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวมากถึงร้อยละ 95 ต้องสูญสิ้นไป ในเมื่อการคาดการณ์ของ IPCC กรณีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 6 องศาเซลเซียสนั้นอยู่ทางด้านบนสุด ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ที่คล้ายกับเมื่อ 251 ล้านปีก่อนจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเรา แต่มันก็น่ากลัวจริงๆ
แน่ละ อนาคตของโลกนั้นรอให้เราขีดเขียน ผลการคาดการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศจะไม่มีวันเป็นจริงหากสังคมมนุษย์ทั้งมวลตัดสินใจที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอนมากที่สุดในบรรดาความไม่แน่นอนทั้งหลาย เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนนับพันล้านคน การตัดสินใจที่เป็นธรรมดาสามัญและเกิดขึ้นทุกๆ วัน แต่เมื่อรวมเข้าด้วยกัน จะเป็นสิ่งที่กำหนดอนาคตของโลกในอีกศตวรรษต่อไป
IPCC ใช้ภาพจำลองเหตุการณ์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Emission Scenarios) เพื่ออธิบายโลกอนาคตที่เป็นไปได้แบบต่างๆ ซึ่งสรุปได้ดังนี้คือ นโยบายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักโดยมีการใช้พลังงานฟอสซิลมากและขาดความร่วมมือในระดับโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในระดับสูง (0.59 เมตร) ส่วนการพัฒนาที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นไม่มาก (0.18 เมตร)
จากมุมมองของ IPCC เราไม่อาจนึกถึงอนาคตของโลกได้เลย หากเราไม่นึกถึงพลังงานที่เราใช้และแหล่งที่มาของพลังงานเหล่านั้น หลายพันปีก่อน แหล่งพลังงานของเราแหล่งเดียวนอกเหนือจากดวงอาทิตย์คือไม้ฟืน เมื่อไม้ฟืนเริ่มหมด เรานำวัตถุสีดำแปลกๆ ที่เราพบใต้ดินซึ่งเรียกว่าถ่านหินมาใช้ ซึ่งต่อมามันได้กลายเป็นพลังในการปฏิวัติอุตสาหกรรม
การขุดเจาะน้ำมันครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1848 แต่ยุคน้ำมันยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปี 1901 อันเป็นช่วงที่มีการขุดเจาะน้ำมันในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เรายังไม่ได้นำก๊าซธรรมชาติมาใช้จนกระทั่งทศวรรษ 1980 และในที่สุดยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยุติลง ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นผลประโยชน์ที่เราได้เพียงครั้งเดียวจากอดีตกาล และเมื่อมันหมดลง มันจะหมดลงตลอดไป เรามาถึงจุดสูงสุดของแหล่งน้ำมันของโลก และที่เหลือจากนั้น ก็หายากขึ้น ราคาแพงมากขึ้น ทำให้เราต้องแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เรามีแหล่งสำรองถ่านหินอยู่มาก ถ่านหินจึงหมดช้ากว่า แต่ตราบเท่าที่เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่ปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่เป็นจริง แรงกดดันของประชาชนเพื่อยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินจะดำเนินต่อไป เรามีแหล่งสำรองยูเรเนียมที่จำกัด ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นทางออกที่แท้จริงของภาวะโลกร้อน ยังไม่ต้องกล่าวถึงอันตรายที่แฝงเร้นและภัยคุกคามอื่นๆ
เมื่อนักประวัติศาสตร์อนาคตเขียนถึงยุคนี้ พวกเขาจะเขียนถึงยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลและจุดจบว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเรายังโง่งมอยู่ ประวัติศาสตร์ของพวกเขาจะเล่าเรื่องความขัดแย้ง สงคราม ความโกลาหล คล้ายกับจุดจบของจักรวรรดิโรมัน ถ้าเราเฉลียวฉลาด ประวัติศาสตร์จะเขียนว่า เราบรรลุถึงการเปลี่ยนแปลงอันเหลือเชื่อไปสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืนได้อย่างไร ดังที่หลายคนกล่าวว่า มีแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และพลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ที่เอื้อให้การแสวงหาทางอารยะธรรมของเราได้ดำเนินต่อไปหากเราปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้อยู่ในแนวทางที่ยั่งยืน ถ้าเราเฉลียวฉลาด นักประวัติศาสตร์ยังจะเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ไปสู่การเกษตรอินทรีย์ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต และการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตที่สะอาดเพื่อยุติการปนเปื้อนของสารเคมีเป็นพิษในร่างกายและในธรรมชาติ พวกเขายังจะเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนเพื่อยุติการทำลายป่าไม้ของโลก
มาร์กาเร็ต มีดด์(Margaret Mead) นักมานุษยวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันเคยกล่าวว่า
“…ไม่ต้องสงสัยเลย พลเมืองกลุ่มเล็กๆ ผู้เอาการเอางานและมีความคิด สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และแท้ที่จริงก็เป็นเช่นนั้นเสมอมา”
ในฐานะมนุษย์ เราสามารถเลือกเพื่อทำการเปลี่ยนแปลง เราสามารถเลือกที่จะรักและปกป้องโลกอันเปราะบางใบนี้ของเรา
เราเลือกกำหนดอนาคตของโลกได้