สื่อมวลชนให้ความสนใจประเด็นภาวะโลกร้อนมากขึ้น และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความหนักแน่นมากขึ้น ผู้คนในประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการสนับสนุนแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับโลกร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะกว้างแต่ไม่ลึกซึ้ง กล่าวคือประชาชนมีความตระหนัก แต่ไม่มากพอที่จะทำให้เป็นวาระทางการเมือง หรือผลักดันให้ลงมือทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน

สาเหตุหนึ่งคือ ภาวะโลกร้อนมีขอบเขตกว้างขวาง ทุกๆ มุมของสังคมสมัยใหม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทุกๆ ประเทศบนโลกใบนี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจความสลับซับซ้อนของปัญหา ขณะเดียวกัน มีการพูดถึงแนวทางที่มากมายเกินไปทั้งในเชิงนโยบายและสิ่งที่แต่ละคนสามารถทำได้

นอกจากนี้ มันเป็นปัญหาที่มากไปกว่าปัญหาฝนกรดและหมอกควันพิษ ภาวะโลกร้อนเป็นตัวอย่างของ ‘โศกนาฏกรรมของส่วนรวม (Tragedy of the Commons)’ ผลประโยชน์ของการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นตกอยู่กับแต่ละบุคคล บริษัทและประเทศ ขณะที่ผลเสียนั้นตกอยู่กับโลกทั้งใบ สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ ผู้คนไม่สามารถเห็น รับกลิ่น หรือสัมผัสคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ขณะที่มีการเรียกร้องให้ลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม ผลที่ได้จากการยุติภาวะโลกร้อนก็ยังเป็นเรื่องที่เห็นไม่ชัดเจน

แม้กระทั่งแนวทางที่มีผลกระทบน้อยที่สุดในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพทางพลังงาน เป็นต้น ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมในบางประเทศ

ในสหรัฐอเมริกา มาตรการประหยัดพลังงานเกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงน้ำมันแพง ทางหลวงหลักระหว่างรัฐหลายสายได้จำกัดความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะเป็น 89 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เพียงทศวรรษหลังจากนั้น ราคาน้ำมันตกฮวบลง มาตรการประหยัดพลังงานก็หายไปด้วย เมื่อประเด็นภาวะโลกร้อนได้ผลักให้เรื่องประสิทธิภาพพลังงานมาเป็นวาระแห่งชาติอีกครั้ง ก็เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัส เนื่องจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทำงานรณรงค์เรื่องประสิทธิภาพพลังงานมาหลายปี และเป็นเรื่องง่ายมากที่จะโดนกล่าวหาว่าเป็นนักฉวยโอกาส ใช้เรื่องภาวะโลกร้อนเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง

»»อ่านเพิ่มเติม
การเมืองเรื่องโลกร้อน(1) : จุดเริ่ม
การเมืองเรื่องโลกร้อน(2) : จุดเปลี่ยน