วัสดุลักษณะคล้ายคลึงกับกระดาษ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เก่าแก่ที่สุดจากยุคอารยธรรมอันเจริญรุ่งเรือง กระดาษเป็นสื่อเครื่องมือยุคแรกในการบันทึกความรู้ ความคิด และถ่ายทอดส่งต่อระหว่างบุคคล วัฒนธรรม จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
กระดาษและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระดาษแข็ง ผลิตจากส่วนประกอบเส้นใยเซลลูโลสของพืช คำว่า “เปเปอร์“ ( Paper) มาจากภาษาอียิปต์โบราณว่า ปาปีรัส ( Papyrus) หมายถึง พืชน้ำจำพวกต้นอ้อ ต้นกก ซึ่งเคยใช้ทำกระดาษด้วยการแผ่ลำต้นออกแช่น้ำ เรียงสลับเป็นชั้นๆ รูปกากบาท จากนั้นนำมาทุบเป็นแผ่นหยาบๆ แล้วตีแรงๆ เป็นแผ่นยาวจนสำเร็จจึงม้วนเก็บรวมไว้ด้วยกัน
ปาปีรัสและแผ่นหนังซึ่งทำอย่างปราณีตจากหนังสัตว์ (ลูกวัวหรือลูกแกะ) มีความเหนียวมากเป็นวัสดุสำหรับใช้เขียนเพียงชนิดเดียวในยุโรปตะวันตก จวบจนถึงศตวรรษที่ 12 ชาว Moors ในสเปนนำวิธีการทำกระดาษของจีนเข้าสู่ยุโรปโดยใช้วัสดุจากพืชชนิดอื่น เช่น ไม้ไผ่ ป่าน ฟางข้าว และปอกระเจา
จากประดิษฐกรรมด้านข่าวสารการพิมพ์ และการเพิ่มขึ้นของการอ่านออกเขียนได้ในศตวรรษถัดมา ส่งผลให้ความต้องการกระดาษเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าการตอบสนองของลินินและเส้นใยจากหญ้า และ “ภาวะกระดาษขาดแคลน” เริ่มคุกคามการค้าการพาณิชย์เป็นระยะๆ
ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 การคิดค้นกระบวนการทำกระดาษจากไม้ ไม่เพียงแก้ไขปัญหาการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เท่านั้น แต่เป็นการสร้างตลาดใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไม้อีกด้วย
ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์กระดาษถูกมองว่าเป็นของธรรมดาสามัญประเภทหนึ่ง และยากที่จะจินตนาการชีวิตประจำวันของเราที่ปราศจากกระดาษได้ นอกจากการใช้กระดาษและเส้นใยเซลลูโลสเพื่อบันทึกถ้อยคำแล้ว มีการใช้ผลิตภัณฑ์กระดาษอย่างกว้างขวางมากมาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ วัสดุทำฉนวน กันกระแทก ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และแม้กระทั่งสารเสริมแต่งอาหาร หากปราศจากกระดาษเสียแล้ว รัฐบาล อุตสาหกรรมและระบบการศึกษาก็มิอาจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
จากข้อเท็จจริงที่ว่า แผนภาพแสดงปริมาณกระดาษต่อประชากรมักจะถูกนำไปอ้างอิงชี้วัดมาตรฐานความเป็นอยู่ของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญจำเป็นยิ่งยวดที่ต้องคิดค้นพัฒนาวิธีการที่สะอาดปลอดภัยและยั่งยืนสำหรับผลิตปัจจัยขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้