แกนนำเครือข่ายผู้บริโภคและผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ ชี้แผนพีดีพีของรัฐเป็นเหตุให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินจำเป็น  มุ่งเน้นแต่ประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภคและชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จึงพร้อมใจประกาศหมดยุคการผลักภาระค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม เร่งจัดเวทีทั่วประเทศเรียกร้องสังคมหนุน  “เลิก Ft เลิกนิวเคลียร์ หนุนชุมชนผลิตพลังงานใช้เอง” เป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบภายใน 10 ปี

วันนี้(11 ก.พ.2554) นางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ร่วมกับ มูลนิธิสุขภาพไทย   มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  และมูลนิธิไฮน์ริค  เบิลล์ จัดเวทีเสวนาเรื่อง “จินตนาการใหม่ เรื่อง พลังงานใน 20 ปี ข้างหน้า : ข้อเสนอสู่แผนพีดีพี” ขึ้น โดยได้เชิญตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนรวม 100 คน ให้มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและระดมความคิดเห็น เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมต่อสังคม

นางสาวรสนากล่าวว่า การที่รัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพี ซึ่งในปัจจุบัน คือแผนพีดีพี 2007 ต่อเนื่องแผนพีดีพี 2010 โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเหมาะสมทำให้เกิดการร้องเรียนจากประชาชน กลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง  ว่าจะก่อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

“สาเหตุของปัญหาที่สำคัญในการกำนดแผนพีดีพีของรัฐบาลที่ผ่านมาคือ การขาดการมีส่วนขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่แผนพีดีพีกำหนดให้มีขึ้นจำนวน 5 โรง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนถึงพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า ภาพรวมของแผนพีดีของภาครัฐมุ่งเน้นประโยชน์ของธุรกิจพลังงานมากกว่าประโยชน์ของสังคมโดยรวม ”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการจัดเวทีระดมความเห็นของประชาชนในครั้งนี้ และเครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้มีข้อเสนอถึงรัฐบาลผ่านคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ดังนี้

  1. ข้อเสนอต่อการกำหนดแผนพีดีพี
    1. ให้ยกเลิกแผนพีดีพี 2007 และ 2010 เพราะเน้นการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเพียงพอ
    2. ก่อนการจัดทำเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานอย่างเพียงพอโดยเฉพาะการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าก่อนการจัดเวทีในระยะเวลาที่เหมาะสม
    3. การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแผนพีดีพีต้องกระทำอย่างกว้างขวาง และให้สนับสนุนกลุ่มประชาชนทั่วไปและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าร่วมอย่างเต็มที่
    4. รัฐต้องจัดการปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการระดับสูงกับกลุ่มธุรกิจพลังงาน โดยต้องห้ามไม่ให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายหรือกำกับดูแลกิจการสามารถเข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในหน่วยงานหรือกิจการด้านพลังงานทุกประเภท
    5. แผนพีดีพีต้องมุ่งเน้นประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ มิใช่เน้นการเพิ่มกำลังการผลิต
  2. ข้อเสนอต่อการจัดการปัญหาภาระการลงทุนที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
    1. ให้ยกเลิกการจัดเก็บค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft) กับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนทั้งหมด และควรให้กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมรับภาระการลงทุนการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงทั้งหมด เพื่อการลงทุนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บค่า Ft ในปัจจุบันส่งผลให้ผู้ใช้ภาคครัวเรือนต้องรับภาระสองต่อทั้งจากค่า Ft  ในการใช้ของตัวเองและการส่งผ่านภาระค่า Ft ของธุรกิจอุตสาหกรรมในราคาค่าสินค้าต่างๆ
    2. ให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการตัดไฟฟ้า 107 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่มีการค้างชำระค่าไฟฟ้า  เนื่องจากผู้บริโภคได้จ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนและถูกลงโทษด้วยการระงับการจ่ายไฟฟ้าอยู่แล้ว และไม่เห็นควรให้มีการจัดเก็บข้อมูลค้างชำระค่าสาธารณูปโภคในเครดิตบูโร
    3. ให้ยกเลิกสูตรการคำนวณโครงสร้างค่าไฟฟ้าทั้งหมดที่มีมาก่อนการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และให้มีการจัดทำสูตรคำนวณการคิดค่าบริการไฟฟ้าใหม่ภายใน 2 ปีโดยให้กลุ่มผู้ใช้ไฟทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาอย่างเต็มที่
    4. ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ไฟฟ้าตามประเภทพลังงานได้ โดยผ่านใบแจ้งค่าไฟฟ้า
  3. ข้อเสนอในการสนับสนุนพลังงานทางเลือกและการตัดสินใจการใช้ประเภทเชื้อเพลิง
    1. ต้องไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนพีดีพีใดๆ เพราะยังขาดความชัดเจนในมาตรการด้านความปลอดภัย และการกำจัดกากนิวเคลียร์
    2. ให้รัฐบาลยอมรับและสนับสนุนแผนพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดที่มีความพร้อมตามศักยภาพ
    3. ให้ชุมชนมีสิทธิเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อผลิตพลังงานทางเลือก
    4. ให้ลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ของพลังงานทางเลือก
    5. ให้มีนโยบายสนับสนุนการผลิตและการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์
    6. กรณีพลังงานทางเลือกขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มชีวมวล ต้องทำ IEE ก่อนแต่หากมีข้อพิพาทกับชุมชนจะต้องจัดทำ EIA และให้ระงับการดำเนินการชั่วคราวก่อน
    7. พลังงานทางเลือกที่ใช้ทรัพยากรร่วมกับชุมชน คือ พลังงานน้ำ ชีวมวล จะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นก่อน
    8. ให้มีการชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบโครงการอย่างเป็นธรรม
  4. ข้อเสนอต่อการบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า
    1. ให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุน DSM และเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของการลงทุนด้านพลังงานของประเทศภายใน 10 ปี
    2. รัฐควรมีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าที่เปิดกว้างไม่ผูกขาดและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าทางเลือกของชุมชน
    3. ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเดิมก่อนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั่วประเทศ
    4. การสำรองพลังงานไฟฟ้าไม่ควรเกินร้อยละ 10
    5. ค่าใช้จ่าย DSM ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบการลงทุนของการไฟฟ้า
    6. ควรมีมาตรการส่งเสริมและจำกัดเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ