ในเทคโนโลยีการฟอกขาวที่ใช้กันทั่วไปสำหรับเยื่อเคมีนั้น  ลิกนินถูกสลายและกำจัดออกไปด้วยก๊าซคลอรีน  เยื่อกระดาษจะถูกฟอกขาวในอีกหลายขั้นตอนโดยการใช้คลอรีนไดออกไซด์หรือไฮโพคลอไรท์

โดยเฉลี่ยแล้ว การฟอกขาวเยื่อคราฟท์หนึ่งตัน จะใช้คลอรีนประมาณ 50 ถึง 80 กิโลกรัม หลังจากขั้นตอนสุดท้ายแล้ว  คลอรีนร้อยละ 10 จะผสมกับโมเลกุลของอินทรียสารจากเนื้อไม้และถูกปลดปล่อยพร้อมกับของเสียจากโรงงาน  ดังนั้นการฟอกขาวเยื่อกระดาษจึงก่อให้เกิดกลุ่มสารประกอบคลอรีนที่เป็นพิษ เรียกว่า สารประกอบอินทรีย์คลอรีน (Organochlorine)

กระบวนการฟอกขาวก่อให้เกิดสารประกอบอินทรีย์คลอรีนนับ 1,000 ชนิด แต่เรารู้จักเพียง 300 ชนิดเท่านั้น  ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะอธิบายองค์ประกอบทางเคมีของของเสียทั้งหมดที่โรงงานผลิตเยื่อกระดาษปล่อยออกมาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ  อย่างไรก็ตาม ปริมาณของสารประกอบอินทรีย์คลอรีนที่ถูกปล่อยออกมานั้นสามารถตรวจวัดได้  โดยการใช้ค่าตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งระหว่าง Absorbable Organic Halogen – AOX หรือ Total Organically-bound Chlorine-TOCI

โรงงานผลิตเยื่อเคมีซึ่งใช้เทคโนโลยีการฟอกขาวที่ใช้กันทั่วไปโดยปกติจะปล่อย AOX  หรือ TOCI ประมาณ 5 ถึง 8 กิโลกรัมต่อเยื่อกระดาษที่ฟอกขาวแล้ว 1 ตัน  และระบายของเสียลงสู่ทะเลสาบ แม่น้ำ และมหาสมุทร  ถ้าโรงงานผลิตเยื่อคราฟท์มีกำลังผลิตเยื่อ 600 – 1,000 ตันต่อวัน  และ AOX 1 กิโลกรัมเป็นตัวชี้วัดว่ามีปริมาณสารประกอบอินทรีย์คลอรีน 10 กิโลกรัม จึงชัดเจนว่าโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและอุตสาหกรรมกระดาษคือผู้ก่อมลภาวะที่เกิดจากสารประกอบอินทรีย์คลอรีนรายใหญ่  โดยเฉลี่ยแล้วโรงงานผลิตเยื่อกระดาษก่อให้เกิดสารประกอบอินทรีย์คลอรีนประมาณ 30 – 80 ตันต่อวัน