ช่วงสายของวันอาทิตย์ เพ็ญโฉม แซ่ตั้งและ กิ่งกร นรินทร ณ อยุธยา เพื่อนจากคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ขอให้ผมช่วยดูแลตัวแทนชุมชน 9 คนจากประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรม “Hit the Production” หรือ บุกภาคการผลิต ซึ่งจัดโดย Climate Justice Now! โดยจะเป็นการปิดล้อมอ่าว เนื่องจากอุตสาหกรรมการเดินเรือถือเป็นหัวใจของระบบทุนนิยม นับเป็นสัญลักษณ์ของระบบอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลนั่นเอง
“ได้ครับ ไม่มีปัญหา” ผมตอบตกลง
แต่การเข้าร่วมในการปิดอ่าวของเราชาวไทยก็ถูกยกเลิกไป เนื่องจากประเมินดูแล้วว่าความเสี่ยงสูงและมีความเป็นไปได้ที่อาจจะถูกจับกุมตัวได้ และตัวแทนชุมชนเองก็ไม่คุ้นกับกิจกรรมในอากาศที่หนาวเหน็บเช่นนี้ ประกอบกับในวันเดียวกัน คุณสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เดินทางมาถึงแล้วก่อน ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัวแทนชุมชนจึงคิดว่าน่าจะไปพบกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ
ก่อนที่จะเดินทางมาที่โคเปนเฮเกน ตัวแทนภาคประชาสังคมไทย ได้เข้าพบนายกฯอภิสิทธิ์ และได้ยื่นข้อเสนอแนะถึงท่าทีและจุดยืนของประเทศไทยต่อการประชุมโลกร้อนในครั้งนี้ พร้อมทั้งข้อกังวลถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะออกมาจากการเจรจาที่โคเปนเฮเกนที่อาจจะกระทบต่อประเทศไทยและคนไทย โดยเฉพาะชุมชนที่ขณะนี้กำลังต่อสู้เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ด้านสิทธิและการใช้ประโยชน์ป่า สิทธิและการใช้ประโยชน์ที่ดิน อุตสาหกรรมการเกษตร แผนพลังงานแห่งชาติซึ่งเน้นการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล และการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น
และเราก็นัดเจอกันที่ Klima Forum ผมพบกับผู้นำชุมชน 7 คนจากภาคเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และใต้ พร้อมกับ NGO ไทยอีก 5 คน เราทั้งหมดเดินทางพร้อมกันไปที่โรงแรมมาริออท ที่ท่านรัฐมนตรีสุวิทย์พักอยู่ เราใช้พื้นที่ตรง Lobby ของโรงแรมเป็นที่พูดคุยกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นข้อกังวลที่มีต่อจุดยืนของรัฐบาลไทยต่อผลการเจรจาที่จะเกิดขึ้นที่โคเปนเฮเกน
“เราคิดว่าข้อเสนอของเราคงจะไม่ได้รับการพิจารณาถึงแม้ว่าจะส่งไปถึงมือท่านนายกฯแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเป็นการดีที่เราจะได้ย้ำข้อเสนอของเราอีกครั้งกับท่านรัฐมนตรีสุวิทย์ และก็จะดียิ่งขึ้นอีกถ้าเราได้พบกับท่านนายกฯที่นี่ด้วย” เพื่อน NGO กล่าว
และก็เป็นที่ชัดเจนจากการประชุมคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ว่า ในประเด็นเรื่องการลดการปล่อยนั้น ประเทศไทยมีจุดยืนคือ 1) “พันธกรณีทางกฎหมาย”สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเป็นพันธกรณีการลดการปล่อยตามระดับเศรษฐกิจสำหรับช่วงพันธกรณีที่สอง (พ.ศ. 2556-2560) และภายในปีพ.ศ. 2563 ให้ใช้หลักความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ และความสามารถของประเทศในการดำเนินการลดที่สามารถวัดได้ รายงานได้ และตรวจสอบได้ และ 2) การดำเนินการลดการปล่อยตามความเหมาะสมในระดับประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเป็นไปตามความสมัครใจ และอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน การถ่ายโอนเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพจากประเทศพัฒนาแล้ว
และที่ชัดเจนอีกประเด็นหนึ่งคือ ประเทศไทยต้องการให้หลักการพื้นฐานในพิธีสารเกียวโตคงอยู่ต่อไป ซึ่งก็ยังมีคำถามที่สำคัญที่ทำให้การเจรจายังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า และยังมีประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้หลายประเด็นที่สำคัญด้วยเช่น การเสนอให้มีการนำเงินจากกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) มาใช้ในการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) แม้แต่ในกลุ่ม G77 เอง ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ผมยังได้ยินอีกว่า ในทีมเจรจาของไทยเอง ก็มีผู้แทนบางคนมาจากภาคอุตสาหกรรม (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)) ซึ่งทางภาคประชาสังคมเองก็ได้เคยหยิบยกประเด็นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมนี้หลายครั้งกับภาครัฐแล้วว่าทำไมภาคอุตสาหกรรมจึงสามารถเข้าไปอยู่ในทีมเจรจาของไทยได้ แล้วภาคประชาสังคมอยู่ที่ไหน คำตอบที่เราได้ก็คือ ภาคอุตสาหกรรมเข้าไปอยู่ในทีมเจรจาเพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งในการเจรจาเรื่องโลกร้อน
ผมว่ามันน่าขันสิ้นดี!!!
การเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระดับพหุภาคีทุกอย่าง ควรจะต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนในประเทศทั้งหมด ไม่ใช่เพียงเพื่อกำไรของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ที่เวที COP 15 นี้ ผมได้เรียนรู้ถึงกระบวนการเจรจาว่าเป็นอย่างไร และเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่จะจับตาดูภาครัฐและเหล่านักการเมืองให้ดำเนินการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนในประเทศ ข้อกังวลที่สำคัญของคนไทยส่วนใหญ่ต่อเรื่องการเจรจาเรื่องโลกร้อน ก็เห็นจะเป็นการทำหน้าที่เจรจาของทีมเจรจาไทยที่เป็นไปในลักษณะโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตย
สัปดาห์ที่สองของการเจรจาเริ่มขึ้น ก็กลับปรากฏว่า ทั้ง NGOs และ INGOs จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปใน Bella Centre ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ สำหรับผมแล้ว นี่เป็นลักษณะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของกระบวนการทำงานของสหประชาชาติภายใต้ UNFCCC อันดับที่หนึ่งเลยทีเดียว
มีข่าวแพร่สะพัดใน Bella Centre หลังจากที่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนำโดยกลุ่มอัฟริกัน ถอนตัวและไม่ให้ความร่วมมือ “เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศเจ้าภาพซึ่งเป็นประธานชาวเดนมาร์กกำลังพยายามช่วยสนับสนุนความต้องการของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยไม่คำนึงถึงพันธกรณีที่แตกต่างกันของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ดำเนินไปจนถึงระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเป็นการดำเนินการจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่สมควรจะต้องเร่งและส่งเสริมให้เกิดกระบวนการการเจรจาในนามของภาคีทุกประเทศ” ข่าว BBC รายงาน
และประกอบกับการประท้วงโดยประเทศตูวาลู ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศแถบแปซิฟิก ที่ยืนยันให้มีการพูดคุยเจรจาเพื่อแก้ไขทั้งอนุสัญญาฯและพิธีสารอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การเลื่อนกำหนดการประชุมเวทีใหญ่ออกไปอย่างไม่มีกำหนด และนี่เป็นลักษณะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของ UNFCCC อันดับที่สอง
ผมเดินผ่านตรงที่รัฐมนตรีสุวิทย์ กำลังยืนอยู่กับทีมงาน และก็ได้ทักทายที่ปรึกษารัฐมนตรีท่านหนึ่ง ผมได้ยินจากเพื่อน NGO ไทยว่าท่านรมว.ก็เดินออกนอกห้องประชุมเหมือนกัน เป็นการสนับสนุนจุดยืนของกลุ่มอัฟริกัน
และคงเป็นโอกาสสุดท้ายของผมในการติดตามดูการเจรจาของทีมเจรจาไทยจากภายใน Bella Centre ผมน่าจะไม่ได้รับป้ายชื่อที่สอง (second badge) แน่ๆ แต่ก็ได้คุยกับ Yuyun เพื่อนจากอินโดนีเซียในทีมการเมืองของ Greenpeace เขายิ้มและพูดว่า “ผมดีใจมากที่จะไม่ได้รับป้ายชื่อที่สอง (ตีความได้ว่า ผมอยากจะออกไปจากที่นี่เหมือนกัน!!!)”
อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่
เขียนโดย ธารา บัวคำศรี
แปลและเรียบเรียง สุรัจนา กาญจนไพโรจน์