จากการเผยแพร่ข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(World Meteorological Organization: WMO) แสดงให้เห็นว่าปี 2015 2016 2017 และ 2018 เป็น 4 ปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดตั้งแต่มีการตรวจวัดผลจากการวิเคราะห์ โดย 5 องค์กรระหว่างประเทศชั้นนำแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2018 มีค่าสูงกว่าระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม (1850-1900) ประมาณ 1 องศาเซลเซียส

Petteri Taalas เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่า “ แนวโน้มอุณหภูมิในระยะยาวมีความสำคัญมากกว่าการจัดอันดับของแต่ละปีและแนวโน้มดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดย 20 อันดับปีที่อุณหภูมิสูงที่สุดอยู่ในช่วง 22 ปีที่ผ่านมาและในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างผิดปกติทั้งบนแผ่นดินและมหาสมุทร

นาย Taalas กล่าวว่า “อุณหภูมิเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรงและมีผลกระทบต่อหลายๆ ประเทศและประชาชนหลายล้านคน รวมทั้งมีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศดังในปี 2018 เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วหลายอย่างบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่คือความจริงที่ต้องเผชิญ สิ่งที่สาคัญที่ทั่วโลกควรทำในเบื้องต้นคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและวางมาตรการการปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศ”

รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) เป็นรายงานพิเศษในเดือนตุลาคม 2018 พบว่าการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน พลังงาน อุตสาหกรรม สิ่งปลูกสร้าง การคมนาคม และชุมชนเมือง เพื่อให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ลดลงประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2010 ภายในปี 2030

จากรายงานของ WMO ระบุว่าในขณะที่ทางทิศตะวันออกของสหรัฐอเมริกาและบางส่วนของแคนาดามีอุณหภูมิเย็นจัดเป็นประวัติการณ์ อลาสก้าและพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาร์กติกกลับมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย ในช่วงเดือนมกราคม พายุฤดูหนาวที่รุนแรงเข้าโจมตีทางฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและบางส่วนของตะวันออกกลางส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชากรทำให้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีที่พักพิงที่เพียงพอกับผู้ลี้ภัย ความหนาวเย็นในต้นสัปดาห์ที่สามของเดือนมกราคมที่พัดไปทางใต้ผ่านคาบสมุทรอาหรับทำให้เกิดพายุฝุ่นจากอียิปต์ถึงซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ อิหร่านและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และทำให้มีเกิดฝนตกหนักที่ปากีสถานและทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย

Omar Baddou นักวิทยาศาสตร์อาวุโสขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่ายุทธศาสตร์ระดับชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ซึ่งไม่มียุทธศาสตร์เพื่อจัดการกับสภาพอากาศเงื่อนไขใหม่ โดยประเทศเหล่านี้คุ้นเคยกับสภาพอากาศในระดับปานกลางหรือกึ่งแห้งแล้ง แต่ตอนนี้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและรุนแรงมากขึ้น

ในการประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศในวันที่ 23 กันยายน 2019 มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองเพื่อเพิ่มความกระตือรือร้นให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสปี 2015 ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ตกลงร่วมกันเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งสูงกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมและแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทุกพื้นที่ที่จำเป็นเพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของพลเมือง โดยมุ่งเน้นไปที่ 9 ประเด็นสาคัญ ดังนี้

1. การเพิ่มมาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจก

2. การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานทางเลือก

3. การจัดการการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม

4. การแก้ปัญหาโดยพื้นฐานจากธรรมชาติ

5. โครงสร้างพื้นฐาน เมือง และการกระทำในท้องถิ่น

6. เงินทุนด้านภูมิอากาศและราคาคาร์บอน

7. การเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

8. การขับเคลื่อนทางสังคมและการเมือง

9. พลเมืองและการชุมนุมทางการเมือง

การแจ้งการอภิปรายในที่ประชุมพร้อมกับรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอื่นๆ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จะออกรายงานสภาพภูมิอากาศปี 2018 ฉบับสมบูรณ์ (https://bit.ly/2Ty2RAM) ในเดือนมีนาคม 2019 ซึ่งจะให้ภาพรวมที่ครอบคลุมถึงความแปรปรวนและแนวโน้มของอุณหภูมิ เหตุการณ์ที่มีผลกระทบสูงและตัวชี้วัดสาคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว เช่น การเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกและ แอนตาร์กติก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและความเป็นกรดของมหาสมุทร พร้อมทั้งคำแนะนำเชิงนโยบายทั่วทั้งองค์การสหประชาชาติสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการมีอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่างสภาพอากาศภูมิอากาศและแหล่งน้ำและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

เรียบเรียงจาก

https://bit.ly/2WVtb9z

https://bit.ly/2EJhbQY