ถึงแม้ว่ากลุ่มคนผู้มีความสงสัยและกลุ่มเจราจาหว่านล้อมจะทำงานกันอย่างหนักเพียงใด ความสนใจของสื่อมวลชนในเรื่องภาวะโลกร้อนก็หวนกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยพุ่งไปที่เรื่องการเจรจาภายใต้พิธีสารเกียวโตและปรากฏการณ์เอลนิโน (El Nino) ครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1997-1998

รายงานข่าวเกี่ยวกับโลกร้อนมีเพิ่มมากขึ้นจนถึงช่วงสหัสวรรษใหม่ การศึกษาของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนซึ่งทำการศึกษารายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหลัก 3 ฉบับในสหราชอาณาจักร ได้แก่ เดอะ ไทมส์ (The Times) เดอะ การ์เดียน (The Guardian) และดิ อินดีเพนเดนท์ (The Independent) พบว่า จำนวนข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อปีเพิ่มจาก 50 เรื่องต่อฉบับในปี 1996 เป็นประมาณ 200-300 เรื่องต่อฉบับในปี 2001 บทความส่วนใหญ่กล่าวถึงความเร่งด่วนของปัญหามากขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ภูมิอากาศรุนแรง เช่น อุทกภัยในอังกฤษปี 2000 คลื่นความร้อนในยุโรปปี 2003

จนถึงปี 2006 ภาวะโลกร้อน เป็นข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง สิ่งแวดล้อมเป็นบัญชีรายชื่ออันดับต้นในทางการเมือง นายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้านของสหราชอาณาจักรมีเป้าหมายชักจูงให้ประชาชนลงคะแนนให้พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ด้วยคำขวัญ “Vote Blue, Go Green”  ถึงอย่างนั้นก็ยังด่วนเกินไปที่จะสรุปว่า พรรคการเมืองจะดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างแข็งขันหรือไม่ แต่อย่างน้อย ทัศนคติเช่นนั้นได้มีส่วนผลักดันให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมกลายเป็นกระแสหลัก

ในสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เกิดขึ้นช้ามาก โดยเฉพาะในหน้าความเห็นและหน้าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาอย่าง เดอะ วอลสตรีท เจอนัล (The Wall Street Journal) คนอ่านหนังสือพิมพ์ไม่ค่อยรู้ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผู้เขียนที่เป็นกลุ่มคนผู้มีความสงสัยและบรรษัทอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ตัวอย่างเช่น เจมส์ ชลิงเจอร์ (James Schlesinger) บรรณาธิการเดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) ช่วงปี 2003 เคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายองค์กรของรัฐบาลสหรัฐฯ การที่เขาอ้างว่า “วิทยาศาสตร์นั้นยังไม่นิ่ง” เขาเน้นไปที่ความไม่แน่นอน โดยให้ความเห็นว่ายังด่วนเกินไปที่จะสรุปว่าภาวะโลกร้อนนั้นมาจากก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่สิ่งที่บทความและข้อมูลผู้เขียนไม่ได้ระบุ คือ เจมส์ ชลิงเจอร์ นั้นมีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการของบริษัท พีบอดี้ เอเนอร์ยี (Peabody Energy) บริษัทอุตสาหกรรมถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ถึงกระนั้นก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อมวลชนของสหรัฐฯ โดยสัญญานที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ ข่าวหน้าหนึ่งของยูเอสเอ ทูเดย์ (USA TODAY) ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2005 พาดหัวว่า “การโต้เถียงจบลงแล้ว โลกกำลังร้อนขึ้น”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังได้เริ่มเข้าไปสู่สื่อกระแสหลักนั่นคือ โทรทัศน์และภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ที่แพร่ภาพในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้เสนอภาพรวมของ ‘สัญญานและวิทยาศาสตร์ของภาวะโลกร้อน’ โทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษได้ประกาศรายการชุด 16 รายการเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวเรื่องเป็นการรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อยุติความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในอังกฤษ ตามมาด้วยภาพยนตร์สารคดีและหนังสือ An Inconvenient Truth ของอัล กอร์ (Al Gore) ผู้ซึ่งวางภารกิจของตนเพื่อทำงานเสริมสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นิตยสารต่างๆ เช่น ไทม์ (Time) และไทม์ เอาท์ (Time Out) ไปจนถึงวานิตี้ แฟร์ (Vanity Fair) ก็ได้ออกฉบับพิเศษว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม

ประเด็นภาวะโลกร้อนยังคงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนไปอีกนานเท่าไรนับจากนี้ ยังคงเป็นคำถามใหญ่ หากเรื่องนี้ยังอยู่ในความสนใจต่อไปในอนาคต ก็จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการสร้างเจตจำนงทางการเมืองและสร้างความตระหนักแก่ประชาชน เพื่อทำให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนทั้งในเชิงการเมือง เทคโนโลยี และการลงมือทำของแต่ละคน

»»อ่านเพิ่มเติม
การเมืองเรื่องโลกร้อน (1) : จุดเริ่ม
การเมืองเรื่องโลกร้อน (2) : จุดเปลี่ยน
การเมืองเรื่องโลกร้อน (3) : โศกนาฏกรรมของส่วนรวม
การเมืองเรื่องโลกร้อน (4) : กลุ่มผู้มีความสงสัย
การเมืองเรื่องโลกร้อน (5) : ชั้นเชิงของผู้มีความสงสัย
การเมืองเรื่องโลกร้อน (6) : นักวิทยาศาสตร์กับผลประโยชน์ทางธุรกิจ