นับแต่มีสนธิสัญญาห้ามการกำจัดกากสารพิษในทะเลในปี 2533 กากและของเสียจากการผลิตพีวีซีก็ถูกนำไปกำจัดด้วยการเผา ฝังกลบบนดินหรืออัดเข้าไปเก็บไว้ในบ่อลึก ซึ่งก็ล้วนทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ากากและของเสียทั้งหมดที่ถูกผลิตออกมาจะถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีเหล่านั้น ประมาณหนึ่งในสามของกากและของเสียเหล่านี้จะถูกนำไปผ่านกระบวนการคลอโรไลซิส (Chlorolisis) ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์คลอรีนมากมายที่ใช้ทั่วไปเช่น ตัวทำละลายเปอร์คลอเอธิลีน (Perchlorethylene ) ซึ่งใช้เป็นสารทำความสะอาดและเป็นสารก่อมะเร็ง คาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon Tetrachloride) ซึ่งเป็นสารทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกและเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ก็มีสารเคมีอื่นๆ เป็นส่วนเกินจากกระบวนการผลิต รวมถึงสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของเหลวทำความสะอาด และน้ำยาปรับกลิ่นในห้องน้ำและในโลงศพ

เป็นความจริงว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมคลอรีนนั้นก่อมลพิษสู่อากาศ ดิน และน้ำ การใช้น้ำยาป้องกันเชื้อโรคในห้องน้ำที่ไม่จำเป็นทำให้มีสารประกอบอินทรีย์คลอรีนถูกล้างลงท่อระบายน้ำเสียมาเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับการใช้สารนี้ในโลงศพก็ปล่อยสารพิษออกมาไม่น้อยจากการเผาศพ  โดยเฉพาะไดออกซิน

ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ผลิตจากเอธิลีน ไดคลอไรด์ซึ่งเป็นสารที่มีพิษรุนแรง ติดไฟและระเบิดง่าย และเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ร้อยละ 95 นำไปใช้ในการผลิตพีวีซี

อาการของการได้รับพิษจากไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์รวมถึงกระดูกไม่แข็งแรง นิ้วบิดเบี้ยวเปลี่ยนรูป ความผิดปกติต่อผิวหนัง กามตายด้าน การหมุนเวียนของเลือดไม่ดีและหายใจสั้น ทำลายตับและอาจก่อมะเร็งตับ จนถึงทศวรรษที่ 90 จำนวนผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับจากไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์แล้ว 157 ราย และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 140-150 คนในช่วงสามทศวรรษต่อจากนี้

ต่อมา หลายประเทศได้มีการตั้งมาตรฐานจำกัดปริมาณไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ที่คนงานจะได้รับ รวมทั้งจำกัดปริมาณไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ที่ยังไม่เป็นโพลีเมอร์ไม่ให้เหลือในผลิตภัณฑ์ที่จะออกวางขายเกินกำหนด แต่ก็มีข้อสังเกตว่ามาตรฐานเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้หากบริษัทของประเทศนั้นๆ ไปตั้งโรงงานในประเทศอื่นที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานนี้