กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันตกช่วงนั้นยังต้องเผชิญหน้าและต่อกรกับกลุ่มผู้มีความสงสัย (Skeptics) กลุ่มดังกล่าวนี้ใช้กลยุทธ์การโฆษณาชวนเชื่อที่แยบยลในทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาชนเลิกวิตกกังวลเกินไปในเรื่องภาวะโลกร้อน กลุ่มเหล่านี้ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่างสงสัยบางคน และกลุ่มเจรจาต่อรองก็นำเอาความเห็นดังกล่าวไปขยายผลเพื่อแสวงประโยชน์ทางธุรกิจและการเมือง

กลุ่มเจรจาต่อรองที่ชัดเจนที่สุดในช่วงตลอดทศวรรษ 1990 อยู่ภายใต้ชื่อ ‘แนวร่วมด้านสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Coalition:GCC)’ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบริษัทน้ำมัน ผู้ผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมถ่านหินรายใหญ่ของโลก เช่น เจเนอรัล มอเตอร์ (General Motor) ฟอร์ด (Ford) บริติชปิโตรเลียม (BP) เชลล์ (Shell) และเอ็กซอน (EXXON หรือ ESSO) กลุ่มนี้มีบทบาทสูงในเวทีเจรจาเรื่องโลกร้อนของสหประชาติ สื่อต่างๆ นำความคิดเห็นของพวกเขาลงเผยแพร่บ่อยครั้ง  ต่อมา บริติชปิโตรเลียม เชลล์ และฟอร์ด ได้แยกตัวออกจากกลุ่ม

ในปี 2001 บันทึกของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีไปถึงบริษัทเอ็กซอนได้รั่วไหลไปถึงกรีนพีซ ระบุว่า “จอร์จ บุชไม่ลงนามในพิธีสารเกียวโต ก็เพราะส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลของพวกคุณ (กลุ่มแนวร่วมด้านสภาพภูมิอากาศโลก)” ในปีเดียวกันนั้นเอง GCC ได้เลิกดำเนินการไป

นับจากนั้น กลุ่มบริษัทน้ำมันหลายแห่งได้เปลี่ยนทิศทางมุ่งสู่การรับรู้ของสาธารณชนในเรื่องภาวะโลกร้อน แต่เอ็กซอน (EXXON) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่สุดยังคงดำเนินการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัยให้สาธารณชน ช่วงปี 2000-2003 เอ็กซอนใช้เงินราว 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับองค์กรต่างๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มคนผู้มีความสงสัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กลุ่มคนผู้มีความสงสัยกลุ่มหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบันชื่อว่า ‘สถาบันวิสาหกิจเพื่อการแข่งขัน (Competitive Enterprise Institute:CEI)’ นำโดยนายไมรอน อีเบลล์ (Myron Ebell) โดยมีฐานอยู่ในวอชิงตัน ในปี 2004 เขาได้รับคำตำหนิอย่างรุนแรงโดยสภาผู้แทนของอังกฤษ หลังจากที่เขาบอกวิทยุบีบีซี ช่อง 4 ว่า เซอร์ เดวิด คิง (Sir David King) หัวหน้าที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) นั้น “ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ”

ในวันที่มีการเปิดฉายภาพยนตร์สารคดี ‘An Inconvenient Truth’ ในสหรัฐอเมริกา สถาบันวิสาหกิจเพื่อการแข่งขัน (Competitive Enterprise Institute) ได้ออกโฆษณาสั้นทางโทรทัศน์บรรยายว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ชีวิตสะดวกสบายอย่างไร และจบด้วยตัวอักษร “Carbon dioxide : They call it pollution. We call it life.” ใจความว่า “คาร์บอนไดออกไซด์ : พวกเขาเรียกมันว่ามลพิษ ส่วนเราเรียกว่าชีวิต”

ในกลุ่มผู้มีความสงสัย มีเพียง 2-3 คน ที่อยู่ในสายงานวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่คนทำงานด้านนี้ ผู้ที่โดดเด่นมากบางคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านฟิสิกส์ของแข็งหรือคณิตศาสตร์ ขณะที่หลายคนมีประวัติการทำงานที่ดูน่าประทับใจ แต่แทบไม่มีประสบการณ์การทำงานโดยตรงด้านวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใดๆ เลย

»»อ่านเพิ่มเติม
การเมืองเรื่องโลกร้อน(1) :จุดเริ่ม
การเมืองเรื่องโลกร้อน(2) : จุดเปลี่ยน
การเมืองเรื่องโลกร้อน(3) :โศกนาฎกรรมของส่วนรวม