สินค้าอายุสั้นคือสินค้าที่มีอายุการใช้งานไม่เกินสองปีแล้วต้องทิ้งไป เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพีวีซี อุปกรณ์การแพทย์บางชนิด อุปกรณ์สำนักงานหรือแผ่นเสียง ซึ่งสินค้าประเภทนี้จะก่อปัญหามากมายทั้งในระหว่างการใช้งานและการกำจัดหลังการใช้งาน

ผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยเฉพาะในส่วนบรรจุภัณฑ์อาหารและสินค้าครัวเรือนได้ปรากฎออกมาอย่างมากมาย พบว่าในประเทศอุตสหากรรมส่วนใหญ่มีการใช้พลาสติกทำบรรจุภัณฑ์เป็นสัดส่วนมากร้อยละ 20-40 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมด

ในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนดังกล่าวประมาณร้อยละ 30 ในญี่ปุ่นร้อยละ 26.5 ในสหราชอาณาจักรร้อยละ 35 และเยอรมันตะวันตกราวร้อยละ 22

พีวีซีเป็นพลาสติกตัวสำคัญที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์มากที่สุดชนิดหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนราว 15 ถึง 20 ร้อยละของพลาสติกบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด จากการประมาณการณ์ของ INCPEN ซึ่งเป็นกลุ่มกดดันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในสหราชอาณาจักร คาดว่าประมาณร้อยละ 18 ของพีวีซีที่ผลิตในยุโรปตะวันตกถูกใช้สำหรับทำบรรจุภัณฑ์ ซึ่งครึ่งหนึ่งของมันถูกใช้ผลิตขวดพลาสติก ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากพีวีซีสามารถเกิดขึ้นกับ PVDC ซึ่งเป็นพลาสติกอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีส่วนผสมของสารคลอรีนและส่วนใหญ่ใช้สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์เช่นกัน

คุณสมบัติถาวรของบรรจุภัณฑ์ประการสำคัญคืออายุสั้น เมื่อมันถูกใช้งานตรงตามวัตถุประสงค์ที่ผลิตขึ้นมา ไม่ว่าจะเพื่อการโชว์ การบรรจุหรือป้องกันสินค้าเสียหาย จากนั้นมันก็จะแปรสภาพเป็นขยะทันที แม้จะเป็นขยะที่น้ำหนักเบาแต่ก็มีปริมาณมหาศาล

ส่วนใหญ่ขยะเหล่านั้นถ้าไม่ถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบก็เผาในเตาเผา มีเพียงไม่กี่แห่งในยุโรปที่มีความพยายามจะนำขยะเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่

การพัฒนาด้านการตลาดที่สำคัญของอุตสาหกรรมน้ำดื่ม น้ำแร่หรือเครื่องดื่มประเภท Softdrink คือการหันมาใช้ขวดพีวีซี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่อัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากจะก่อปัญหาปริมาณขยะจำนวนมากในห้องครัวและถังขยะในชุมชน (เนื่องจากขวดน้ำพีวีซีห้ามนำกลับมาใช้ใหม่เด็ดขาด) ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพก็เป็นข้อห่วงใยสำคัญอีกประการหนึ่ง

ในปี 2534 สถาบันแห่งหนึ่งในอิตาลีได้รายงานหลักฐานระบุว่ามีการแพร่ของ ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer สารตั้งต้นของการผลิตพีวีซี) จากขวดน้ำพีวีซีเข้าไปสู่น้ำดื่มในขวด พร้อมเสนอให้อุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐบาลกำหนดให้มีการจำกัดระยะเวลาการใช้บรรจุภัณฑ์พีวีซีบรรจุอาหาร เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ของไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้นพบว่าจุลชีพในน้ำดื่มสามารถเพิ่มจำนวนบนพื้นผิวพีวีซีได้เร็วกว่าบนพื้นผิวขวดแก้วที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม เหตุการณ์เช่นนี้มีโอกาศเกิดขึ้นได้สูงโดยเฉพาะในน้ำดื่มที่อัดก๊าซซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน (เนื่องจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคต่อหน่วยงานให้บริการน้ำดื่มในหลายพื้นที่) ในฝรั่งเศส การใช้พีวีซี 25 ร้อยละ ของพีวีซีที่ผลิตออกมาในการผลิตขวดน้ำดื่มเช่นนี้ สถาบัน Katalyse ในเยอรมันแนะนำให้เทน้ำทิ้งหากพบว่าขวดน้ำถูกเปิดทิ้งไว้ในสภาพที่ไม่เหมาะสมเช่นทิ้งวางไว้กลางแดดโดยตรง

การใช้พีวีซีทำพลาสติกห่ออาหารเป็นประเด็นผู้บริโภคที่เป็นที่รับรู้กันอย่างดีในยุโรป เนื่องจากการแพร่ของสาร Plasticiser ชื่อ DOA หรือ Dioctyladipate เข้าไปในอาหารได้โดยตรง ปัจจุบันในเยอรมันอนุญาตให้ใช้พลาสติกชนิดนี้สำหรับห่อเนื้อสดเท่านั้น แต่ความจริงทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าก็คือการงดใช้พลาสติกใด ๆ มาห่ออาหารเลยหากไม่ระบุว่าเป็น PVC-free หรือไม่ทำมาจากพีวีซีอย่างชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้นบรรจุภัณฑ์พลาสติกพีวีซียังตามไปก่อปัญหาใหญ่ในเตาเผาขยะอีกด้วย ทำให้หลายประเทศตัดสินใจประกาศห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พีวีซีอย่างสิ้นเชิงเพื่อตัดปัญหาทั้งหมด ปัญหาในเตาเผาเกิดจากสารคลอรีนในพลาสติกที่ทำให้เกิดกรดไฮโดรคลอริกซึ่งมีขีดความสามารถในการกัดกร่อนสูง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดสารคลอโรอินทรีย์ที่มีพิษมากอย่างไดออกซินและฟูราน ไม่รวมกับปัญหาจากขี้เถ้าที่ปนเปื้อนสารพิษที่ออกมาจากเตาเผา

สถาบันวิจัย Juelich ในเยอรมันรายงานผลการศึกษาขั้นต้นเกี่ยวกับวงจรของพีวีซีระบุว่า

“…ด้วยมาตรการนี้ (การประกาศห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พีวีซี) จะสามารถลดปริมาณสารพิษในเตาเผาได้ไม่ว่าจะเป็นสารคลอรีน ไดออกซิน Plasticisers หรือดีบุก ยิ่งกว่านั้นจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อีกมากด้วย”

แม้ว่าจะมีการใช้คลอรีนปนเปื้อนในขยะประเภทอื่น แต่เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วเทียบไม่ได้กับปริมาณในบรรจุภัณฑ์พีวีซี

จากผลการศึกษาที่สนับสนุนให้ดำเนินการโดยกระทรวงเพื่อการวิจัยและเทคโนโลยีเยอรมัน ตีพิมพ์ในปี 2532 ประมาณการว่าขยะบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกแข็งพีวีซีอย่างขวดและหม้อมีปริมาณมากถึง 50 ร้อยละของขยะจากครัวเรือนในเยอรมัน แม้ว่าจะคิดเป็นน้ำหนักเพียง 0.5 เปอร์เซ็นของน้ำหนักขยะดังกล่าว ซึ่งปริมาณคลอรีนในขยะบรรจุภัณฑ์พีวีซีคิดเป็น 60 ร้อยละของปริมาณคลอรีนรวมในขยะจากบ้านเรือน อีกราว 20 ร้อยละเป็นคลอรีนที่มาจากขยะพีวีซีประเภทอื่นเช่นรองเท้า สินค้าครัวเรือนอื่นๆ หนังเทียม เป็นต้น

กระแสการใช้บรรจุภัณฑ์พีวีซีกำลังลดลงเรื่อยๆ ในเยอรมันร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในเครือ Tengelmann และเครือ Irma ในเดนมาร์คได้ยุติการใช้บรรจุภัณฑ์พีวีซีอย่างสิ้นเชิงและหันกลับมาใช้บรรจุภัณฑ์แก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์นม

ที่สำคัญ ผู้ผลิตจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงความแรงของกระแสการบริโภคสีเขียว รวมถึงยอมรับในพลังผู้บริโภคผ่านการบอยคอตที่มีมากขึ้น บ่อยขึ้น Herlitz ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องเขียนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งยุโรปได้เลิกใช้วัสดุพีวีซีมากว่าสองปีแล้ว โดยได้พัฒนา blister-free blister pack ขึ้นมาแทนผลิตภัณฑ์พีวีซีเดิมที่ชื่อ blister pack โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กจะบรรจุมาในพลาสติกใสติดกับแผ่นกระดาษแทน

ข้อเท็จจริงนี้ขัดกลับการกล่าวอ้างของอุตสาหกรรมพีวีซีที่บอกว่าต้องเลือกระหว่างบรรจุภัณฑ์พีวีซีกับมาตรฐานชีวิตที่ต่ำลง หรือระหว่างการสิ้นเปลืองอาหารกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ความจริงแล้ววัสดุทดแทนบรรจุภัณฑ์พีวีซีปัจจุบันมีความพร้อมสูงมากที่จะนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวัสดุทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีปัญหาอื่นๆ

ผลกระทบของการใช้พลาสติกพีวีซีในของเล่นเด็กเป็นปัญหาใหญ่อีกประการ เนื่องจากอันตรายจากสาร Plasticisersในพีวีซีนั่นเอง ในสวิสเซอร์แลนด์ มีการห้ามใช้ DEHP ในอุตสหากรรมตุ๊กตาสำหรับเด็กอายุต่ำกว่าสามขวบนับแต่ปี2529เป็นต้นมา ในเยอรมัน “ไม่แนะนำ”ให้ใช้สารนี้ในผลิตภัณฑ์ทันตกรรม ในเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีการตระหนักในเรื่องพิษภัยนี้สูงกว่าได้ขึ้นทะเบียน DEHP เป็นสารพิษต่อสิ่งแวดล้อมตัวสำคัญ และในสหรัฐได้นับสารนี้เป็นสารมลพิษตัวสำคัญระดับต้นๆ

การใช้พีวีซีในวงการแพทย์ความจริงมีไม่เกิน 3 ร้อยละของพีวีซีที่ผลิตออกมาทั้งหมด แต่กลับเป็นจุดโฆษณาของอุตสาหกรรมพีวีซี อ้างว่าพีวีซีมีความจำเป็นต่อวงการแพทย์ อุปกรณ์พีวีซีทางการแพทย์อย่างเช่นเครื่องหยั่งแผล (Proves) ท่อที่สอดเข้าไปในร่างกายเพื่อนำของเหลวเข้าหรือออกมาจากอวัยวะบางส่วน (Catheters) หรือท่อสำหรับเครื่อง Haemodialysis เพื่อเปลี่ยนเลือดให้คนไข้โรคไต

การใช้พีวีซีทางการแพทย์นอกจากจะก่อปัญหาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญจากพีวีซีที่มีผลต่อร่างกายคนไข้เอง และปัญหาแง่การจัดการเตาเผาขยะของโรงพยาบาลด้วย

เนื่องจากคุณสมบัติที่ต้องการในงานการแพทย์จากพลาสติกพีวีซีคือความยืดหยุ่น และพีวีซีจะยืดหยุ่นได้ก็ต่อเมื่อผสมสาร Plasticisers เข้าไปเท่านั้น ปัญหาคือสารPlasticisers นั้นสามารถที่จะแพร่เข้าไปในของเหลวได้ เคยมีการตรวจพบสาร Plasticisers อย่าง DEHP ในเลือดที่บรรจุในถุงพีวีซีในธนาคารเลือด

คนไข้โรคไต (Dialysis Patients) ซึ่งต้องได้รับการถ่ายเลือดเป็นประจำเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเลือดต้องสำผัสกับท่อพีวีซีจากเครื่องเปลี่ยนเลือด จะได้รับสาร DEHP ในระดับสูงต่อการรักษาแต่ละหนึ่ง จะทำให้คนไข้เหล่านี้จะมีโอกาสเป็นโรคจำนวนมาก ตั้งแต่อาหารที่ผิวหนัง ตับ หรือกระทั่งโรคหัวใจจากระบบเลือด หากร่างกายพวกเขาไม่ได้สัมผัสกับพีวีซีอาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้นและกลับมาแย่ลงอีกหากได้สัมผัสกับพีวีซีอีก

สมาคมโรคไตเรื้อรังเยอรมัน กล่าวในเรื่องนี้ว่า การมีสาร Plasticisers ในอุปกรณ์นี้ไม่ใช่กรณีที่ต้องพิจารณา และยกให้เป็นหน้าที่ของคนไข้และหมอที่ต้องหลีกเลี่ยงเอง

โรงพยาบาลจำนวนมากเริ่มปฏิเสธิที่จะใช้อุปกรณ์พีวีซี  ทั้งในเยอรมัน เดนมาร์ก และออสเตรีย มีการใช้อุปกรณ์ที่ทำจากวัสดุทดแทน เช่น พลาสติก Polyethylene ที่ไม่มีการใช้ Plasticisers หรือใช้ถุงมือยางธรรมชาติแทนถุงมือพีวีซี ส่วนอุปกรณ์เปลี่ยนเลือดคนไข้โรคไตแบบใหม่ กำลังพัฒนาใช้ท่อที่ผลิตจากแก้วชนิดพิเศษ (Porous Glass) แทนพีวีซี