เทคโนโลยีนิเวศเป็นแนวคิดที่รวมเอาเทคโนโลยีหรือการผลิตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติของนิเวศมณฑล  เทคโนโลยีนิเวศคือการย่อยสลายได้โดยชีววิธี และอาจใช้กระบวนการทางชีววิทยาในลักษณะที่สอดคล้องและไม่ย่ำยีธรรมชาติ โดยความช่วยเหลือของวิศวกรรมที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเชิงนิเวศสอดคล้องกับแบบแผนทางสังคมและวัฒนธรรม และรองรับความต้องการของมนุษย์

ของเสียเหลือศูนย์ หมายถึงการกำจัดขยะหรือของเสียให้หมดไปด้วยการเลียนแบบวงจรธรรมชาติซึ่งของเสียเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นในวงจรนิเวศ  กุนเธอร์ พอลลิ วิศวกรสิ่งแวดล้อมได้นำเอาวิธีการดังกล่าวนี้ไปใช้ในโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศฟิจิ แทนซาเนีย จีน และนามิเบีย  โรงงานผลิตเบียร์ทำให้เกิดของเสียจากข้าวบาร์เลย์ซึ่งเป็นไฟเบอร์และมีโปรตีนปะปนอยู่เช่นเดียวกับของเสียที่เป็นของเหลว  เห็ดเจริญเติบโตได้ในไฟเบอร์ซึ่งพบอยู่ในของเสีย และสามารถเก็บผลผลิตได้ 5 ครั้งต่อข้าวบาร์เลย์เหลือทิ้ง 1 กอง รวมถึงสามารถนำไปใช้เพาะเห็ดคุณภาพสูงอย่างเห็ดชิตาเกะได้ด้วย  ผู้ชำนาญการการเพาะเห็ดทั่วโลกเองยังนึกไม่ถึงว่าสามารถเพาะเห็ดด้วยของเสียจากเบียร์ได้  ไม่เพียงเท่านั้นเห็ดยังสามารถเปลี่ยนลิกนินที่อยู่ในของเสียให้เป็นคาร์โบไฮเดรตคุณภาพสูงซึ่งนำไปใช้เลี้ยงฝูงปศุสัตว์ได้

ในของเสียหนึ่งตันจะมีส่วนที่เป็นโปรตีนซึ่งจะผลิตไส้เดือนได้ 287 ปอนด์ ไส้เดือนเหล่านี้ใช้เลี้ยงไก่ในฟาร์มไก่ที่สร้างคู่กับโรงงานผลิตเบียร์ ไก่ในฟาร์มก็จะเป็นอาหารของคนในชุมชนนั้น มูลไก่และปศุสัตว์ที่รวบรวมได้สามารถนำไปหมักเพื่อผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้าได้  โรงงานเบียร์ขนาดกำลังผลิต 8 แสนลิตรต่อปีซึ่งเป็นโรงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีนใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซมีเทนที่ได้จากของเสียจากการเลี้ยงไก่และปศุสัตว์  จากนั้นของเสียที่เป็นของเหลวข้นๆ ซึ่งมีค่าบีโอดีสูงก็จะถูกนำไปทิ้งลงในบ่อเลี้ยงปลาที่มีสวนลอยน้ำสำหรับปลูกดอกไม้ต่างๆ ข้าวไรย์ และมะเขือเทศ ภายใน 24 ชั่วโมงของเหลวข้นๆนี้จะแตกตัวและช่วยผลิตปลา 7 ชนิด

เมื่อนำกฎของวงจรชีวิตในธรรมชาติมาดัดแปลงใช้ก็ทำให้เกิดผลิตผลที่เป็นประโยชน์อย่างมากมาย  โรงงานผลิตเบียร์มีผลผลิตเพิ่มจากเดิม 7 เท่า นอกจากนี้ยังผลิตอาหาร เชื้อเพลิง และปุ๋ยได้มากขึ้น 7 เท่าด้วย น่าสังเกตว่าวิธีการแบบนี้ใช้ได้ดีกับโรงงานผลิตเบียร์ขนาดเล็ก เพราะความจำกัดทางชีวภาพของตัวระบบเอง วงจรการผลิตแบบนี้สร้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าของโรงงานผลิตเบียร์ปกติ เพราะต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลการผลิตอื่นๆ ในระบบที่เกี่ยวข้องกัน ข้อดีอีกข้อก็คือ ทรัพยากรเหล่านั้นได้มาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นของเสียที่ต้องทิ้งอยู่แล้ว  ค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานถือว่าต่ำเพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เพราะทุกอย่างตั้งอยู่รอบโรงเบียร์  โรงเบียร์จึงมักตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางการบริโภค เพื่อนำ เห็ด ไก่ ไข่ไก่ ปลา ที่ผลิดได้ไปขายให้กับชุมชน