เราอาศัยอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน แนวโน้มในด้านต่างๆ ทั้งศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น วิถีชีวิต และความคิดเกิดขึ้นและดับไปเพียงชั่วขณะหายใจ ยังมีความท้าทายอีกประการหนึ่งที่มนุษย์เรามิได้เผชิญมาก่อน ประชากรโลกกว่า 6 พันล้านคนพร้อมกับศักยภาพทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดได้ก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลต่อระบบธรรมชาติของโลก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง พอล ครุสเซน (Paul Crutzen) นำเสนอผ่านบทความในวารสาร ‘เนเจอร์’ (Nature) ว่า เราอาศัยอยู่ในยุคทางธรณีวิทยาใหม่ -ยุคแอนโทรโปซีน (Anthropocene)- กล่าวคือ มนุษย์กลายมาเป็นแรงกระทำที่มีผลต่อธรรมชาติ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอย่างมหาศาล และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ย้อนกลับมาคุกคามวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของเราและคนรุ่นอนาคต
ตัวอย่างที่ชัดเจนของกระบวนการนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าไปสะสมเพิ่มพูนในชั้นบรรยากาศซึ่งไร้เขตแดนได้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากการผลิตพลังงานและการคมนาคมขนส่งซึ่งก่อตัวเป็นรากฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงกว่า 200 ปีที่ผ่านมา กระบวนการอุตสาหกรรมบนฐานพลังงานราคาถูกเอื้ออำนวยให้คนรุ่นปัจจุบันเกิดความสะดวกสบายในชีวิตอย่างไม่เคยมีมาก่อน รถยนต์ส่วนตัวกลายเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและโอกาสใหม่ ท่ามกลางการท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นโดยความยากจนแบบเรื้อรังและความร่ำรวยแบบกระหายทรัพยากร
ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แนวหายนะภัยเรื่อง The Day After Tomorrow ที่ออกฉายราวกลางปี พ.ศ.2547 ฉายภาพของโลกเมื่อต้องประสบกับการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนในอัตราเร่ง ผลคือภัยพิบัติระดับโลกเกิดขึ้นเป็นระลอกติดต่อกัน เช่น พายุเฮอริเคนและทอร์นาโด คลื่นยักษ์กระแทกฝั่ง มหาอุทกภัย แผ่นดินไหว และจุดเริ่มต้นของยุคน้ำแข็งครั้งใหม่…
ภาพยนตร์ The Day After Tomorrow เป็นเรื่องแต่ง แต่ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริง แม้ว่าการทำงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) อาจดูไม่เหมือนบทภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด แต่การคาดการณ์ของ IPCC น่าตระหนกมากกว่าสิ่งที่ฮอลลีวู้ดนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนนับล้าน การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิต การขาดแคลนน้ำและอาหาร
นิตยสารฟอร์จูน (Fortune) ปี 2537 ลงบทความซึ่งสรุปรายงานของเพนตากอน (Pentagon) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เรื่องความมั่นคงสำหรับอนาคตที่คาดการณ์ไว้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่า “…ลองจินตนาการดู ประเทศยุโรปตะวันออกต้องดิ้นรนเลี้ยงดูประชากรของตนเอง และเข้าบุกรัสเซียซึ่งเริ่มอ่อนแอเนื่องจากจำนวนประชากรลดลง ทั้งนี้เพื่อยึดคุมสินแร่และแหล่งพลังงาน หรือ ญี่ปุ่นจับตาแหล่งน้ำมันและก๊าซในรัสเซียเพื่อนำมาใช้ในโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเลและการทำอุตสาหกรรมเกษตร…”
ข้อสรุปของเพนตากอนนั้นชัดเจน กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขั้นอันตรายนั้นมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและมีแผนสำรองสำหรับยุคอุณหภูมิอันหนาวเย็นในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ พายุที่เกรี้ยวกราดรุนแรงขึ้น ภัยแล้งครั้งใหญ่ ซึ่งคนนับพันล้านต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
เพนตากอนระบุว่า “…ประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่าเมื่อใดก็ตามที่มนุษย์เผชิญกับทางเลือกระหว่าง ‘อดตาย’ กับ ‘การปล้นชิง’ มนุษย์เลือกอย่างหลัง ดังนั้น หากโลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า ความโหดร้ายยุคโบราณจะกลับมาอีกครั้ง ความสิ้นหวัง การแย่งชิงอาหาร น้ำ และแหล่งพลังงาน สงครามจะกำหนดชะตาของมนุษย์…”
สหรัฐอเมริกาอาจดูเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งหมด คือ มีทั้งเงิน เทคโนโลยี และทรัพยากรมากมายที่จะรับมือ แต่ในด้านกลับกัน สหรัฐอเมริกาจะตกเป็นเป้าหมายจากการที่ช่องว่างระหว่าง ‘มี’ กับ ‘ไม่มี’ จะขยายตัวอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้ เพนตากอนจึงเสนอว่า “สหรัฐอเมริกาต้องสร้างป้อมปราการป้องกันตัวเองเพื่อปกป้องทรัพยากร แนวพรมแดนต้องเข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันผู้อพยพจากเม็กซิโก อเมริกาใต้ และหมู่เกาะคาริเบียน” พวกเขาเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า ‘นโยบายที่ไม่มีผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม’ (No Regrets Strategy) ซึ่งจะทำให้สหรัฐอเมริการอดจากหายนะภัยนี้
ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด คือ ผู้ไร้ซึ่งโภคทรัพย์ที่จะรับมือและปรับตัว ผู้ไร้ซึ่งทางเลือกในแหล่งอาหาร รวมถึงผู้ที่ไม่อาจเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข คนจนในประเทศร่ำรวยเองก็หนีไม่พ้น พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องเสียชีวิตหรือประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เมื่อพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาถล่มนิวออร์ลีน รัฐหลุยส์เซียนา ผู้เสียชีวิตและประสบภัยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจนสีผิวที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และไม่มีรถยนต์หรือพาหนะที่จะหลบความรุนแรงของพายุร้าย
ภาวะโลกร้อนมีความเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกจากวาระอื่นๆ ที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ ทั้งการร่อยหรอของทรัพยากร การเพิ่มประชากรโลก การลดลงของอัตราการผลิตอาหารต่อคน รวมถึงความไร้เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลก มันมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนและหนุนเสริมเข้าด้วยกัน
หลายต่อหลายคนมองว่า การทำให้คนหันมาสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องยากมาก มิใช่เพียงเพราะความเข้าใจที่ว่ามันคือปัญหาของวันพรุ่งนี้ หากแต่เป็นเพราะมีปัญหาอีกมากมายที่รุมเร้าผู้คนอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องรับรู้ว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่ ‘เรื่องอื่น’ ในประเด็นที่หลากหลายและสลับซับซ้อนของโลก ถ้าเราไม่ใส่ใจ ภาวะโลกร้อนจะแผ่ขยายครอบงำประเด็นอื่นๆ ทั้งหมด และในทางกลับกัน หากเราสามารถกู้วิกฤตโลกร้อนได้ ก็จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่คุกคามโลกอยู่ในขณะนี้
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร (Rio de Janeiro) ประเทศบราซิล หรือรู้จักกันว่า ‘เอิร์ธซัมมิต’ (Earth Summit) เมื่อปี 2535 ได้เป็นตัวเร่งให้เกิดการจัดระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงการจัดทำกรอบอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) คำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development)’ กลายเป็นชื่อของความก้าวหน้า เป็นแนวคิดที่ยอมรับกันทั่วโลก เป็นตัวประสานสารพัดประโยชน์ที่สามารถเชื่อมทุกฝ่ายเข้าหากันได้
แม้การประชุมที่ริโอจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นกระแสหลักและเป็นแรงส่งเสริมให้เกิดการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมในทุกหนทุกแห่ง แต่ท้ายที่สุดก็ล้มเหลวที่จะบอกลาแนวคิดการพัฒนาแบบเดิม เอิร์ธซัมมิตประสบความล้มเหลวที่จะฝ่าข้ามทางสองแพร่ง ระหว่างการปล่อยให้เกิดวิกฤตธรรมชาติมากขึ้นจากการพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด และการปล่อยให้เกิดวิกฤตความเป็นธรรมมากขึ้นโดยยืนหยัดปกป้องคุ้มครองธรรมชาติไว้อย่างเดียว ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นวาทกรรมการพัฒนาที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย
เอิร์ธซัมมิตก่อให้เกิดคำถามใหญ่ของศตวรรษที่ 21 นั่นคือ จะรับมือกับการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมอย่างไรโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อนิเวศวิทยา
อีก 10 ปีต่อมาหลังจากเอิร์ธซัมมิต มีการจัดการประชุมที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesberg) แอฟริกาใต้ ในปี 2545 ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องการทำให้เป็น ‘การประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development : WSSD)’ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะให้ความสำคัญกับความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้างที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในโลกตกอยู่ในกับดักของความทุกข์ยากและอยู่ในสภาวะที่ลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์
บางคนกล่าวว่า มนุษยชาติต้องเลือกเอาระหว่างการเผชิญกับความทุกข์ยากหรือการเผชิญกับหายนะภัยทางธรรมชาติ
เมื่อพิจารณาแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนนั้นเกินขีดความสามารถที่ระบบนิเวศของโลกจะรองรับได้ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมโหฬารและการปล่อยของเสียในรูปคาร์บอนซึ่งต้องการแหล่งดูดซับทางชีวภาพขนาดมหึมา กลายเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการพัฒนาในแบบที่เป็นอยู่
กล่าวให้ชัดเจนลงไปคือ ถ้าเรานำเอาอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรในประเทศอุตสาหกรรมมาเป็นค่าเฉลี่ยของทุกประเทศในโลก เราจะต้องมีโลกอีก 5 ใบเพื่อที่จะให้ชั้นบรรยากาศรองรับและดูดซับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านั้นไว้ได้
เรามิอาจแยกความเป็นธรรมออกจากนิเวศวิทยาได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับประเด็นภาวะโลกร้อนที่ท้าทายมนุษยชาติทั้งมวลในขณะนี้ ความทุกข์ยากของมนุษย์ควรจะหมดไปโดยไม่ต้องทำให้เกิดหายนะภัยทางธรรมชาติ และในทางกลับกัน เราสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดหายนะภัยทางธรรมชาติโดยไม่ต้องทำให้ชีวิตมนุษย์ทุกข์ยาก ทั้งนี้ เราจำเป็นต้องทบทวนเรื่องเทคโนโลยี สถาบันและโลกทัศน์ที่ครอบงำโลกปัจจุบันอย่างจริงจัง