ตั้งแต่แรกสุด ประเด็นที่กลุ่มผู้มีความสงสัยใช้เพื่อโต้เถียง คือ เรื่องความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องที่เป็นแก่นสาระของวิทยาศาสตร์ก๊าซเรือนกระจกนั้นได้มีการยืนยันมานับทศวรรษแล้ว เช่น ความเห็นร่วมในการคาดการณ์ว่า หากความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อุณหภูมิจะเพิ่มเป็นเท่าใด เป็นต้น แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นงานที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย จึงไม่ยากที่จะหยิบเอาจุดอ่อนบางประการในงานวิจัยชิ้นใดชิ้นหนึ่งขึ้นมาโจมตี

นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ทั้งหลายนั้นมีข้อยกเว้นเสมอ เช่น การที่ธารน้ำแข็งขยายตัวเพิ่มขึ้น หรือพื้นที่บางแห่งมีอุณหภูมิลดลง เป็นต้น กลุ่มผู้มีความสงสัยจะใช้ความไม่แน่นอนและข้อยกเว้นดังกล่าวเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า องค์ความรู้ทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจะพังครืนไม่เป็นท่าในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้

การหยิบเอาประเด็นย่อยมาโต้เถียงเรื่องโลกร้อนนั้น เป็นวิธีการเชิงโวหารอันยอดเยี่ยม ซึ่งเราอาจเห็นได้จากทนายความหรือนักการเมืองที่มีชั้นเชิงสูง

นอกเหนือจากประเด็นเล็กๆ น้อยๆ แล้ว กลุ่มผู้มีความสงสัยได้พัฒนาการวิพากษ์วิจารณ์ของตนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเราอาจได้ยินข้อวิพากษ์บางข้อเหล่านี้อยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น

“…บรรยากาศโลกไม่ได้ร้อนขึ้น และถ้ามันร้อนขึ้น ก็มีสาเหตุมาจากความผันแปรของธรรมชาติ ถ้าเป็นความผันแปรของธรรมชาติ มันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร แต่ถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา มันก็มีผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ถ้ามันมีผลเสีย เราก็มีเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหา และถ้าไม่มีเทคโนโลยีเหล่านั้น เราก็ไม่ควรทำให้เศรษฐกิจล่มจมเพื่อแก้ปัญหาเพราะยังมีความไม่แน่นอนในทางวิทยาศาสตร์…”

ในปี 2001 นักรัฐศาสตร์ชาวเดนมาร์กชื่อ บียอห์น ลอมบอร์ก (Bjorn Lomborg) ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำงานให้กับกรีนพีซ ได้ออกหนังสือชื่อ ‘นักสิ่งแวดล้อมช่างสงสัย (The Skeptical Environmentalism)’ เป็นหนังสือเล่มหนาและมีเชิงอรรถท้ายบทอันยาวเหยียดเพื่อสนับสนุนประเด็นของเขา ลอมบอร์กนำเอาแบบจำลองเศรษฐกิจ-สภาพภูมิอากาศที่ IPCC ใช้ในรายงานประเมินมาทำการโต้แย้งว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากในระยะสั้น (ภายใต้กรอบพิธีสารเกียวโต) นั้นไม่มีความคุ้มทุนและมีนัยสำคัญน้อยมากต่อผลลัพธ์ของสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

สื่อมวลชนกระแสหลักอย่าง ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) โรลลิ่งสโตน (Rolling Stone) และสิ่งพิมพ์อื่นๆ ให้ความสนใจในหนังสือของลอมบอร์กและประเด็นของเขาอย่างกว้างขวาง ลอมบอร์กถูกโต้แย้งจากคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลเดนมาร์กซึ่งระบุว่า งานของเขาเป็น ‘งานที่ไม่ซื่อสัตย์อย่างมีภาวะวิสัย’ ซึ่งในเวลาต่อมาคณะกรรมการกลุ่มนี้ได้ถอนคำพูดของตน นิตยสารไซเอนทิฟิก อเมริกัน (Scientific American) ตีพิมพ์บทความของนักวิจัยชั้นนำ 4 คน ซึ่งโต้แย้งงานของลอมบอร์ก และเขาโต้กลับอย่างรุนแรง หนึ่งใน 4 นักวิจัย คือ สตีเฟน ชไนเดอร์ (Stephen Schneider) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford) เขียนลงในนิตยสาร ‘กริสท์ (Grist)’ ว่าผลงานของลอมบอร์กนั้นเลือกเฟ้นเอกสารอ้างอิงที่สนับสนุนความคิดเห็นที่ลำเอียงข้างของตนเอง

ประเด็นโลกร้อนในหนังสือของลอมบอร์กชี้ว่า ไม่มีอะไรควรกังวลมากนักกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของเขาก็ล้มเหลวในการพิจารณาถึงคุณค่าด้านในที่ไม่ใช่ตัวเงินในการปกป้องพรรณพืช  สัตว์ และระบบนิเวศ ถึงกระนั้น ผลงานของลอมบอร์กที่มองอนาคตของโลกว่าจะดีขึ้น และวิพากษ์วิจารณ์การมองโลกในแง่ร้ายของพวกนักสิ่งแวดล้อม ก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนผู้มีความสงสัยในเรื่องโลกร้อน เขาจบการอภิปรายประเด็นโลกร้อนว่า สังคมโลกนั้นมีเงินพอที่จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากเราคิดว่ามันเป็นประเด็นเร่งด่วนมากพอ แต่เขาแย้งว่ามีปัญหาต่างๆ อีกมากที่สมควรทำก่อน เช่น การป้องกันรักษาโรค เป็นต้น

กลุ่มคนผู้มีความสงสัยผู้สร้างสีสันอีกคน คือ ไมเคิล คริชตัน (Michael Crichton) นักเขียนนิยายแนวตื่นเต้นทางวิทยาศาสตร์ หลังจากนวนิยายเรื่อง State of the Fear ของเขาวางขาย เขาได้รับคำเชิญให้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของวิทยาศาสตร์ในการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมที่รัฐสภาสหรัฐฯ เขาวิจารณ์แบบจำลองสภาพภูมิอากาศในทำนองที่ว่า “ถ้าพวกเขาไม่สามารถทำนายสภาวะอากาศในเดือนหน้าได้ แล้วจะทำนายสภาพภูมิอากาศจากนี้ไปอีก 100 ปีข้างหน้าได้อย่างไร”

แน่นอนว่า สิ่งที่ชัดเจน คือ การพยากรณ์อากาศและการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศเป็นกระบวนการที่แตกต่างกันในขั้นพื้นฐาน การพยากรณ์อากาศเป็นการติดตามสภาวะอากาศแบบวันต่อวัน ณ จุดใดจุดหนึ่งที่กำหนด ส่วนการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศเป็นการมองแนวโน้มระยะยาวซึ่งจะบอกเราเกี่ยวกับสภาวะอากาศที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าเราอยู่ที่เชียงใหม่หรือฮ่องกงในช่วงวันแรกของเดือนมกราคม เราอาจพูดด้วยความเชื่อมั่นระดับหนึ่งว่าวันแรกของเดือนกรกฎาคมน่าจะร้อนกว่าวันนี้ แม้จะบอกไม่ได้ว่าอุณหภูมิสูงสุดจะเป็น 35 หรือ 20 องศาเซลเซียสก็ตาม

เรื่องโต้แย้งอีกประการหนึ่ง คือ คุณภาพของแบบจำลองสภาพภูมิอากาศระดับโลกซึ่งคาดการณ์ภาวะโลกร้อนในอนาคตและข้อมูลที่บอกเราเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในอดีต แบบจำลองทั้งหมดได้ผลออกมาเป็นความเห็นตรงกันว่าเราจะเผชิญกับภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะมีข้อบกพร่องในเรื่องของข้อมูลบันทึกสภาพอากาศในอดีต (ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ได้ออกแบบให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในตอนแรก) แต่ก็ไม่ได้ลบล้างหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่มากมาย

»»อ่านเพิ่มเติม
การเมืองเรื่องโลกร้อน(1) : จุดเริ่ม
การเมืองเรื่องโลกร้อน(2) : จุดเปลี่ยน
การเมืองเรื่องโลกร้อน(3) : โศกนาฏกรรมของส่วนรวม
การเมืองเรื่องโลกร้อน(4) : กลุ่มผู้มีความสงสัย