ธารา บัวคำศรี
ผู้อำนวยการรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมเจรจาความตกลงโลกร้อนครั้งที่ 17 หรือชื่อเต็มๆ ว่าการประชุมเจรจาประเทศสมาชิกอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 17 (COP17) (และพิธีสารเกียวโตครั้งที่ 7) ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ได้สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2554 เหมือนกับทุกครั้งของเวทีเจรจาสิ่งแวดล้อมระดับโลก การหาจุดร่วมที่เห็นพ้องต้องกันนั้นประสบความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เวลาที่เราจะกับกอบกู้วิกฤตการณ์ทางนิเวศวิทยาของโลกทั้งเกี่ยวข้องกับผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมนั้นได้เหลือน้อยลงทุกทีเช่นกัน

ผลจากการประชุมที่เดอร์บัน เราจะได้เห็นปฏิกริยาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่า เราพิจารณาถึงการรวมกลุ่มทางการเมืองกลุ่มไหน สื่อมวลชนในยุโรปตีพิมพ์ว่า นักการเมืองประกาศว่าการเจรจาที่เดอร์บันเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญและชัยชนะของการเจรจาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศของยุโรป ในขณะนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าร่วมการเจรจามองว่าผลที่ออกมาจากเดอร์บันนั้นน่าตระหนกและน่าผิดหวัง พอๆ กับการเจรจาโลกร้อนเมื่อ 2 ปีก่อนที่โคเปนเฮเกน

สำหรับกรีนพีซ สิ่งที่เกิดขึ้นที่เดอร์บันเป็นเรื่องที่พอคาดเดาได้ ไม่ต่างกับในอดีต กล่าวคือ ไม่มีการบรรลุผลใดๆ ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ ไม่มีความบันดาลใจทางการเมืองที่แรงกล้าใดๆ และไม่มีอะไรให้น่าประหลาดใจ ซ้ำร้ายมีบางอย่างที่ดูถอยหลังกลับ เช่น การเสนอให้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture and Storage-CCS) ซึ่งถ้ากล่าวให้ตรงไปตรงมาก็คือการสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสกปรกต่อไปโดยอ้างว่ามีเทคโนโลยีถ่านหินที่สะอาด กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการพัฒนาที่สะอาดหรือ Clean Development Mechanism-CDM

แม้ดูว่ามีบางอย่างที่พอคืบหน้าเช่น กลไกในเรื่องของเทคโนโลยี (technology mechanism) คณะกรรมการว่าด้วยการปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation committee) กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการช่วยเหลือทางการเงินระยะยาว

ถึงกระนั้น ผลของการเจรจาที่เดอร์บันเป็นภาพสะท้อนปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเรื่องประสิทธิภาพ (Effective) กับความเป็นธรรม (Equity) ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เส้นทางการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนยังคงยืดเยื้อ และอนาคตสิ่งแวดล้อมโลกยังคงอยู่ในความเสี่ยงต่อไป

เมื่อขึ้นต้นปี 2555 กระแสข่าวและความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมในทุกระดับอาจมุ่งไปที่ความเชื่อและคำทำนายที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่เป็นหายนะ แต่ปี 2555 มีความหมายในทางสัญลักษณ์มากไปว่านั้นหากเราช่วยเจริญสติของตนเองให้มั่น ปี 2555 ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของคำที่ใช้อย่างแพร่หลายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development)” และในเดือนมิถุนายน 2555 นี้จะเป็นการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Rio+20 United Nations Conference on Sustainable Development) ที่เมืิองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเมื่อย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมืองริโอได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญของโลกที่เป็นที่มาของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอื่นๆ

ล่าสุด ได้มีร่างเอกสารฉบับสำคัญออกมาจากการเตรียมความพร้อมของการประชุม Rio+20 ครั้งนี้ เอกสารชื่อว่า “The Future We Want” เป็นผลจากกระบวนการเตรียมงานอันยาวนานที่ทำมห้เราได้เห็นรัฐบาลต่าง ๆ ภาคธุรกิจและประชาสังคม รวมถึงองค์กรสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของตนในเอกสารที่นำเสนอต่อสหประชาชาติรวมกันหนาประมาณ 6,000 หน้า

เมื่อพิจาณราในรายละเอียด the Future We Want นี้ เป็นเอกสารที่น่าผิดหวังอย่างมาก เหตุผลคือมันถูกเขียนด้วยภาษาที่แห้งแล้งและทางการที่แข็งกระด้างเป็นอย่างยิ่ง หากผู้คนต้องการจะพูดถึงวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ คนนับพันล้านทั่วโลกขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ไม่มีไฟฟ้าใช้ ตกอยู่ในความหิวโหย ป่าไม้และมหาสมุทรของโลกถูกทำลาย โดยไร้ซึ่ง “ความรู้สึกถึงความเร่งด่วนของปัญหา” แล้วล่ะก็ เราคงไม่สามารถโน้มน้าวใจใครได้

เมื่อสิปปีที่แล้ว มีการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development – WSSD) ที่นครโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ เป็นการประชุมสุดยอดที่มีประมุขแห่งรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั่วโลก เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาติ รัฐบาลท้องถิ่น นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ องค์กรพัฒนาเอกชนและสื่อมวลชนจากมากกว่า 65,000 คน มารวมกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับจากการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลกเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่นครริโอ เดอ จาเนโร บราซิล

การประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development – WSSD) ที่นครโยฮันเนสเบิร์กเมื่อ 10 ปีท่ีแล้ว แทนที่จะเป็นความทรงจำของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในการประชุมที่ริโอ เดอ จาเนโร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กลับเป็นเพียงการกลับมาทบทวนข้อตกลงต่างที่ยังไม่มีอะไรคืบหน้าและส่วนใหญ่ล้มเหลวจากการประชุมที่ริโอ คือการเฉลิมฉลองแล้วก็เลิกรากันไป

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทวิลักษณ์ของสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เผยโฉมหน้าอย่างชัดเจน แม้ว่าเราจะประสบผลในแง่การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่ที่สำคัญ เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ได้ก่อผลสะเทือนอย่างมากในทุกส่วนย่อยของสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบขูดรีดยังคงแพร่กระจายไปทั่วโลก

โลกยังไปไม่พ้นจากการลอกเลียนแบบการพัฒนากระแสหลัก ประเทศร่ำรวย ยังคงดำเนินกแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยต่อไป แต่การรับประกันต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในประเทศยากจน นั้นยังเหมือนเดิม และการพัฒนาที่ยั่งยืนยังดำเนินไปอย่างอิหลักอิเหลื่อและอึมครึม

เมื่อพิจารณาถึงร่างเอกสาร The Future We Want ที่ออกมาจากการบวนการเตรียมประชุม Rio+20 โยงกับวิกฤตนิเวศวิทยาที่เราเผชิญในปัจจุบัน เราไม่อาจนึกถึงอนาคตของโลกได้เลย หากเราไม่นึกถึงพลังงานที่เราใช้และแหล่งที่มาของพลังงานเหล่านั้น

หลายพันปีก่อน แหล่งพลังงานของเราแหล่งเดียวนอกเหนือจากดวงอาทิตย์คือไม้ฟืน เมื่อไม้ฟืนเริ่มหมด เรานำวัตถุสีดำแปลกๆ ที่เราพบใต้ดินซึ่งเรียกว่าถ่านหินมาใช้ ซึ่งต่อมามันได้กลายเป็นพลังในการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การขุดเจาะน้ำมันครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1848 แต่ยุคน้ำมันยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปี 1901 อันเป็นช่วงที่มีการขุดเจาะน้ำมันในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เรายังไม่ได้นำก๊าซธรรมชาติมาใช้จนกระทั่งทศวรรษ 1980 และในที่สุดยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยุติลง

ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นผลประโยชน์ที่เราได้เพียงครั้งเดียวจากอดีตกาล และเมื่อมันหมดลง มันจะหมดลงตลอดไป

เรามาถึงจุดสูงสุดของแหล่งน้ำมันของโลก และที่เหลือจากนั้น ก็หายากขึ้น ราคาแพงมากขึ้น ทำให้เราต้องแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นๆ

เรามีแหล่งสำรองถ่านหินอยู่มาก ถ่านหินจึงหมดช้ากว่า แต่ตราบเท่าที่เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่ปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่เป็นจริง แรงกดดันของประชาชนเพื่อยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินจะดำเนินต่อไป

เรามีแหล่งสำรองยูเรเนียมที่จำกัด ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นทางออกที่แท้จริงของภาวะโลกร้อน ยังไม่ต้องกล่าวถึงอันตรายที่แฝงเร้นและภัยคุกคามอื่นๆ

ร่างเอกสาร The Future We Want ของ Rio+20 นั้น ไม่ได้เขียนโดยนักประวัติศาสตร์อนาคต หากเราให้นักประวัติศาสตร์อนาคตเขียนถึงอนาคตของยุคสมัยนี้ พวกเขาจะเขียนถึงยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลและจุดจบว่าจะเป็นอย่างไร

ถ้าเรายังโง่งมอยู่ ประวัติศาสตร์ของพวกเขาจะเล่าเรื่องความขัดแย้ง สงคราม ความโกลาหล คล้ายกับจุดจบของจักรวรรดิโรมัน ถ้าเราเฉลียวฉลาด ประวัติศาสตร์จะเขียนว่า เราบรรลุถึงการเปลี่ยนแปลงอันเหลือเชื่อไปสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืนได้อย่างไร โลกนั้นมีแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และพลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ที่เอื้อให้การแสวงหาทางอารยะธรรมของเราได้ดำเนินต่อไปหากเราปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้อยู่ในแนวทางที่ยั่งยืน

ถ้าเราเฉลียวฉลาด นักประวัติศาสตร์ยังจะเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ไปสู่การเกษตรอินทรีย์ซึ่งนำไปสู่ การเพิ่มผลผลิต และการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตที่สะอาดเพื่อยุติการปนเปื้อนของสารเคมีเป็นพิษในร่างกาย และในธรรมชาติ พวกเขายังจะเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ การจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนเพื่อยุติการทำลายป่าไม้ของโลก

มาร์กาเร็ต มีดด์(Margaret Mead) นักมานุษยวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันเคยกล่าวว่า “…ไม่ต้องสงสัยเลย พลเมืองกลุ่มเล็กๆ ผู้เอาการเอางานและมีความคิด สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และแท้ที่จริงก็เป็นเช่นนั้นเสมอมา” ในฐานะมนุษย์ เราสามารถเลือกเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ต้องจับตาดูว่า The Future We Want จาก Rio+20 จะนำไปสู่ความหวังในการร่วมปกป้องโลกอันเปราะบางใบนี้หรือไม่