อุบัติภัยอุตสาหกรรมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่ใช่เรื่องใหม่ ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย เหตุโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ ของบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ระเบิดในวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น อาจเป็นเหตุครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งในบรรดาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรมร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นที่นั่น

ถ้าจำไม่ผิด หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังมีการจัดทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับระบบทะเบียนว่าด้วยการใช้สารพิษและการปล่อยสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งพัฒนามาจากแนวทางของ USEPA ของสหรัฐฯ (Toxic Release Inventory) และ Pollutant Release and Transfer Register(PRTR) ที่ริเริ่มภายใต้กรอบของ UN นอกจากนี้ ยังมีการริเริ่มเกี่ยวกับการสื่อสารเรื่องความเสี่ยง (Risk Communications) ของภัยพิบัติอุตสาหกรรมด้วย

เหตุระเบิดที่โรงงาน BST น่าจะเป็นบททดสอบชั้นดีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่เทศบาลมาบตาพุด การนิคมอุตสาหกรรม ผู้ราชการจังหวัด กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ทำการสื่อสารสาธารณะในกรณีนี้ และเข้าใจว่าเราคงน่าจะได้ยินข้อมูลอันหลายหลากหลายและไม่ตรงกันอยู่พอสมควรถึงมากที่สุด

ที่น่ายกย่องคือองค์กรเล็ก ๆ ที่ชื่อ มูลนิธิบูรณะนิเวศ(EARTH) ที่ทำงานเกาะติดเรื่องมาบตาพุดมายาวนานโดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องโดยกับสารพิษภาคอุตสาหกรรม ก็ได้ทำรายงานข้อมูลชุดแรกออกมาสู่สาธารณะโดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ประกอบข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ให้ทราบถึงว่า โรงงานที่ระเบิดคืออะไร ผลิตอะไร สารเคมีที่ใช้ในโรงงานมีอะไรบ้าง และผลผลิตที่เกิดจากการระเบิดในแง่ของประเภทและความเป็นพิษของมัน

อย่างน้อยที่สุดก็เป็นข้อมูลน่าเชื่อถือชุดแรก ในบรรดาข้อมูล “ปากต่อปาก” ที่ถูกบ้างผิดบ้างที่แพร่กระจายในช่วงเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุได้ไม่นาน

กลับมาเรื่องความล้มเหลวของการสื่อสารสาธารณะเรื่องความเสี่ยงภัยจากอุบัติภัยจากอุตสาหกรรม ผมมีข้อสังเกตุสองสามประการดังนี้

1) เพราะว่าบริษัทอุตสาหกรรมจำนวนมากในมาบตาพุดมัวแต่ยุ่งเรื่อง CSR – ความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัท – คิดว่าทำ CSR แล้วจะแก้ปัญหา แต่โจทย์เรื่องอุบัติภัยอุตสาหกรรมเป็นคนละโจทย์ เป็นประเด็นเรื่องการยอมรับว่า “การพัฒนาอุตสาหกรรมที่นำความสะดวกสบายมาให้สังคมบริโภคนั้นต้องแลกด้วยอะไรบ้าง” ส่วนเรื่อง CSR นั้นเป็นการโกหกครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในเรื่องของความรับผิด (liability) ซึ่งไม่มีใครพูดถึงมากนักในสังคมไทย

2) ไม่ต้องเดา เราก็จะได้ยินว่า การเกิดเหตุครั้งนี้เป็นเพราะ “เหตุสุดวิสัย” “ความประมาทเลินเล่อของพนักงาน” หรือไม่ก็ “โรงงานเก่า” บ้าง หรืออาจไปถึงขั้น ทฤษฏีสมคบคิดว่าเป็น “การจงใจให้เกิด” ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนงานที่เสียชีวิตและคนเจ็บก็จะได้รับค่าชดเชยไปตามเนื้อผ้า มากบ้างน้อยบ้าง หน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ต้องแบกภาระในการดูแลผู้เจ็บป่วยและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ (โดยเป็นงบประมาณมาจากภาษีของพวกเราทุกคน) บริษัทอุตสาหกรรมที่เกิดเหตุนั้นก็มีการทำประกันความเสี่ยงของการดำเนินงานไว้แล้วตามกรอบธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งก็จะทำให้เจ้าของหรือหุ้นส่วนอยู่รอดได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดนั้นก็กลายเป็นภาระที่ “สังคม” ต้องแบกรับ ดังนั้น สิ่งที่รัฐและอุตสาหกรรมจะต้องทำมากไปกว่า CRS ก็คือเรื่องของภาระรับผิดจากความเสียหาย (Corporate Accountability and Liability) ถามว่า มันจะเพิ่มต้นทุนการผลิตแล้วทำให้สินค้าอุปโภคจากอุตสาหกรรมการผลิตแพงขึ้นไหม คำตอบห้วน ๆ ของผมก็คือ ก็ CSR ยังทุ่มเทเงินมหาศาลเพื่อสร้างภาพพจน์อุตสาหกรรม ทำไมจะทำไม่ได้ในกรณี “ภาระความรับผิด” ประเด็นมันอยู่ที่ว่า มันไม่ถูกใจ เท่านั้นเอง เพราะต้องยอมรับว่าบริษัทมีภาระรับผิด

3) ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการสื่อสารข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้สังคมรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องเป็นหัวใจสำคัญเหนืออื่นใด และเราก็จะมักหาไม่ค่อยเจอในหมู่ชนชั้นนำทางอุตสาหกรรมทั้งหลายของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ ประชาชนอย่างเราตาดำ ๆ ก็ต้องรับภาระต่อไป