ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก Disposable Heroes : The ‘Fukushima 50′ are all but forgotten a year after a tsunami crippled one of Japan’s biggest nuclear facilities. By Takashi Yokota and Toshihiro Yamada. Newsweek, 12 March 2012

หมายเหตุ : บุคคลในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติเพื่อปกป้องพวกเขาจากการคุกคามของบริษัท TEPCO

 

อินาดะยังบอกอีกว่างานหลายอย่างดูโหดมาก เขาพูดถึงกรณีที่ชัดเจนอันหนึ่งคือการกำจัดน้ำที่ปนเปื้อนรังสีอย่างสูงหลังจากใช้เพื่อหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เสียหาย บางส่วนของท่อปั๊มน้ำร่ัวคล้ายสปริงเกอร์ แม้ว่า TEPCO  สามารถจัดการน้ำปนเปื้อนรังสีส่วนใหญ่ให้เกิดความบริสุทธิ์และกำจัดอย่างปลอดภัย แต่อินาดะก็บอกว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาถูกสั่งให้ขุดร่องเพื่อเชื่อมเข้ากับอาคารเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายเพื่อเป็นช่องทางออกของน้ำที่ปนเปื้อนรังสีในระดับสูง ปัญหาคือ ร่องน้ำนั้นต่อออกสู่มหาสมุทร อินาดะบอกว่า “มันไม่ใช่เรื่องฉลาดเลยที่ให้น้ำปนเปื้อนรังสีไหลออกสู่ทะเล แต่เราต้องทำในสิ่งที่ TEPCO สั่งให้ทำ” เมื่อนิวส์สวีคถามความเห็นจาก TEPCO บริษัทก็มิได้ยืนยันหรือปฏิเสธแต่ประการใด

ในเดือนธันวาคม 2554 รัฐบาลประกาศให้โรงไฟฟ้าฟูกูชิมาไดอิชิอยู่ในขั้น “การปิดโรงไฟฟ้า (โดยที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ค่อย ๆ มีอุณหภูมิลดลง)” และโรงไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การควบคุม มีการจัดให้สื่อมวลชนเข้าดูโรงไฟฟ้าในเดือนพฤศจิกายน(2554) และอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์(2555) แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า วิกฤตปัญหายังอีกยาวไกล โดยเน้นประเด็นเรื่อง แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หลอมละลายซึ่งยังไม่มีข้อมูล ไม่มีใครรู้ถึงตำแหน่งที่ชัดเจนของแท่งเชื้อเพลิงเหล่านั้น และการรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาไดอิชินั้นต้องใช้เวลานานนับทศวรรษ

สำหรับ “วีรบุรุษฟูกูชิมาห้าสิบ” วิกฤตของพวกเขาก็ยังไม่จบลงง่าย ๆ คนงานที่กู้โรงไฟฟ้ามองเห็นถึงภาพสวยหรูของภารกิจการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรังสีรอบโรงไฟฟ้า ทาเคชิ โนมูระ ซึ่งทำงานที่โรงไฟฟ้าและเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจฟื้นฟู กล่าวว่า “พวกเขาบอกว่า การฟื้นฟูพื้นที่จากการปนเปื้อนของรังสีจะใช้เวลาสามปี นี่มันเป็นเรื่องเหลวไหลมาก มันต้องใช้เวลามากกว่านั้นกว่าคนจะรู้สึกว่าตนมีความปลอดภัยพอที่จะกลับเข้ามาในพื้นที่ได้ และอาจจะไม่มีวันนั้นก็ได้”

ในฐานะคนงานกู้ภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นากากาว่ารู้แล้วว่าเขาได้รับรังสีในปริมาณสูงมาก เขายังคงรอผลการตรวจสอบร่างกายที่ทำในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขาถามว่า “ผมจะโอเคไหม?”

(-จบบริบูรณ์-)