พีวีซี(PVC) ได้รับการจดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ในปี 2473 ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1930 คลอรีนปริมาณมหาศาลถูกใช้ในกองทัพนาซี ภายใต้โครงการทำให้เยอรมันปลดแอกตัวเองจากการนำเข้าฝ้ายในภาวะสงครามโดยหันไปผลิตเส้นใยเรยอนเพื่อนำมาทำผ้าสังเคราะห์แทน ซึ่งต้องใช้โซดาไฟจำนวนมาก จึงต้องพึ่งอุตสาหกรรมคลออัลคาไล หลังจากการทดลองหลายปีเพื่อหาสารทำให้คงตัว (Stabilisers) สารหล่อลื่น และสารทำให้อ่อนตัว (Softeners) นักวิจัยก็พบว่าพีวีซีสามารถทำมาทำเส้นใยได้ นับเป็นโบนัสก้อนโตของการวิจัยที่สามารถเปลี่ยนคลอรีน ซึ่งเป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตโซดาไฟให้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าทำกำไรได้

เพียงแค่ไม่กี่ปีจากนั้น นอกจากโพลีเอธิลีน(Polyethylene หรือ PE) พีวีซีได้กลายเป็นวัสดุสังเคราะห์ตัวสำคัญที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในเยอรมนี ทศวรรษ 1950 เป็นยุคเริ่มต้นของพลาสติกพีวีซี ทศวรรษต่อมา การผลิตพีวีซีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จากนั้นก็เป็นยุคที่ผลิตภัณฑ์คลอรีนรวมทั้งพีซีบีและซีเอฟซีถูกห้ามใช้ รวมทั้งการลดลงของการใช้คลอรีนในน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำให้คลอรีนที่ผลิตได้ต้องหาที่ใช้งานใหม่ พีวีซีกลายเป็นทางออกของการใช้คลอรีนดังกล่าว ท่ามกลางการลดลงของผลิตภัณฑ์คลอรีนอื่นๆ ปัจจุบัน ร้อยละ 30 ของคลอรีนที่ผลิตได้ทั่วโลกนำมาผลิตพีวีซี

ตลอดช่วงชีวิตของพีวีซีได้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย นับตั้งแต่การผลิตผงพีวีซีที่ต้องมีการขนส่งสารเคมีที่ระเบิดง่าย ก่ออันตราย อีกทั้งยังปล่อยกากพิษออกมาด้วย ต่อมาการผลิตพลาสติกพีวีซีจำต้องเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสารพิษอันตราย เนื่องจากพีวีซีนั้นไร้ประโยชน์หากไม่มีการเติมสารเติมแต่ง (Additives) เพื่อทำให้พลาสติกที่ผลิตออกมามีคุณสมบัติตามต้องการเช่น ความนุ่มและความหยุ่นตัว ความแข็งแรง การมีสี หรือคุณสมบัติด้านความสามารถในการต้านทานแบคทีเรีย

ผลิตภัณฑ์พลาสติกพีวีซีเองก็มีปัญหาไม่น้อยแม้กระทั่งเมื่อถึงมือผู้บริโภคแล้ว อย่างเช่นพื้นบ้านพีวีซี ผู้ใช้อาจจะมีอันตรายได้เนื่องจากพลาสติกชนิดนี้ต้องใช้สารเติมแต่งซึ่งเป็นสารเคมีระเหยสู่อากาศและคาดกันว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen)

การกำจัดพลาสติกพีวีซีก็ยิ่งก่อปัญหาหนักขึ้นไปอีก หากนำไปเผาคลอรีนจากพลาสติกก็จะปล่อยออกมาในรูปของ กรดอะซีติกและสารพิษไดออกซิน รวมทั้งสารประกอบอินทรีย์คลอรีนอีกหลายชนิด หากนำไปฝังกลบ สารพิษจากส่วนผสมของสารเติมแต่งจะหลุดออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดินได้ ที่สำคัญ คุณสมบัติของการที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ซึ่งอุตสาหกรรมพีวีซีภูมิใจมาก กลับก่อปัญหาหากพลาสติกนั้นกลายเป็นขยะ เพราะต้องจะใช้เวลานานนับหลายศตวรรษกว่าจะย่อยสลายได้ในธรรมชาติ

เนื่องจากปัจจุบัน พื้นที่ฝังกลบพลาสติกพีวีซีก็หายากขึ้นตามลำดับ ทำให้มีแนวคิดที่จะรีไซเคิลพลาสติกพีวีซี แต่เนื่องจากการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้การรีไซเคิลพีวีซีทำได้ยากมาก พลาสติกพีวีซีแต่ละชนิดเติมสารเติมแต่งเข้าไปแตกต่างกัน กระทั่งอุตสาหกรรมพีวีซีเองก็ยอมรับว่าการรีไซเคิลนั้นแพงกว่า และพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลมีคุณภาพน้อยกว่า

แต่การใช้พีวีซีก็ไม่ได้หยุดยั้ง กลับเพิ่มมากขึ้นทุกวัน อุตสาหกรรมพีวีซีขยายสู่เอเชียและละตินอเมริกาอย่างหนักหน่วงเนื่องจากมีราคาถูก หลังจากที่มีแนวคิดที่จะกำจัดขยะพิษชนิดนี้ด้วยการส่งออกไปประเทศอื่น และราคาที่ต่ำกว่า เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การใช้พีวีซีแพร่หลายอย่างมากขณะนี้

วัสดุท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ ที่เคยใช้กันมาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า และโดยทั่วไปดีกว่าถูกแทนด้วยการใช้พีวีซีซึ่งมีราคาถูก ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยแทบจะไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้นั้นทำมาจากพีวีซีด้วยซ้ำ และผู้ผลิตเองออกมาต่อต้านอย่างรุนแรงที่จะให้มีการติดฉลากผลิตภัณฑ์ว่าทำมาจากพีวีซี แต่ในความเป็นจริงผู้บริโภคเองก็ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะการเข้ามาครองและคุมตลาดของวัสดุเสมือนจริงชนิดนี้เป็นไปด้วยความดุเดือด

หลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการใช้ภาษาเยอรมัน และประเทศแถบแสกนดิเนเวีย ซึ่งตระหนักดีถึงพิษภัยของพีวีซี ได้มีการควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์พีวีซีอย่างเข้มงวด หน่วยงานท้องถิ่นมีการริเริ่มสร้างสิ่งก่อสร้างที่ปลอดพีวีซี ขณะที่ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และร้านขายเฟอร์นิเจอร์ประกาศไม่ใช้วัสดุที่ทำจากพีวีซีอย่างสิ้นเชิง

อุตสาหกรรมพลาสติกพีวีซีพยายามอย่างมากที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์พีวีซีจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้มากมาย แต่นักวิทยาศาสตร์ และนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกยืนยันว่าผลิตภัณฑ์พีวีซีเป็นตัวอันตราย ตั้งแต่การผลิต การใช้และการกำจัด มีการเรียกร้องให้มีการใช้วัสดุอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ทดแทนการใช้พีวีซีเพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้นเราจึงควรจะคำนึงและตระหนักถึงผลพวงของมันทั้งต่อตัวเราและสิ่งแวดล้อม