โดย Kimbra Cutlip 16 มกราคม 2560
http://skytruth.org/2017/01/satellites-leave-no-place-to-hide-for-rogue-thai-fishing-fleet/
แม้ว่าการติดตามตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายจะยากเย็นแสนเข็ญในพื้นที่อันห่างไกลอย่าง ซายา เดอ มาฮา แบงก์ ซึ่งเป็นเขตน้ำตื้นไหล่ทวีปนอกชายฝั่งมหาสมุทร แต่ไม่มีอะไรเป็นความลับว่าเกิดอะไรขึ้นในเขตอันห่างไกลของมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันออกของมาดากัสการ์
เดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา กรีนพีซเปิดเผย รายงาน ที่ระบุว่ากองเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยเคลื่อนย้ายพื้นที่ทำการประมงเพื่อหลบหลีกการติดตามตรวจสอบและการจับกุมโดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงกับการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ และกองเรือประมงนอกน่านน้ำดังกล่าวเข้าไปจับปลาในเขต ซายา เดอ มาฮา แบงก์ห่างไกลจากท่าเรือขึ้นปลาในประเทศไทยเป็นระยะทางกว่า 7,000 กิโลเมตร
อย่างที่รู้กัน เห็นแล้วจึงจะเชื่อ และโดยความร่วมมือกับ DigitalGlobe เราได้รับภาพถ่ายดาวเทียมที่มีรายละเอียดสูงซึ่งสนับสนุนการยืนยันของกรีนพีซและเปิดเผยให้เห็นว่าเรือประมงมีการเคลื่อนไหวอย่างไร นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา เราได้บันทึกกองเรือประมงของไทยที่มารวมกันในทำเลที่ตั้งแห่งหนึ่งในเขตซายา เดอ มาฮา แบงก์ เพื่อขนถ่ายปลา
รายงาน “พลิกวิกฤต:การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำประมงผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมการประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทย” ระบุถึงการเคลื่อนย้ายของกองเรือประมงนอกน่านน้ำของไทย จากน่านน้ำของอินโดนีเซียที่ใช้ทำมาหากินมาอย่างยาวนาน ไปสู่น่านน้ำอันห่างไกลนอกชายฝั่งปาปัวนิวกีนี และไปสู่ ซายา เดอ มาฮา แบงก์ ในเวลาต่อมา อันเป็นผลมาจากการปราบปรามการประมงผิดกฏหมายของรัฐบาลอินโดนีเซียในปี 2557 ซึ่งรวมถึง ปฏิบัติการระเบิดเรือประมงผิดกฏหมาย และการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฏหมายของ ปาปัวนิวกินี ในเดือนสิงหาคม 2558
ภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้จาก Saya de Malha Bank เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อรวบรวมภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง 10×10 กิโลเมตร ของพื้นที่ทะเลรอบๆ เรือห้องเย็นบรรทุกปลาในส่วนต่างๆ ของโลก ด้วยศักยภาพในการบรรทุกในปริมาณมาก เรือห้องเย็นหรือที่เรียกว่า เรือแม่(reefers) รวมรวมสัตว์น้ำทะเลที่จับได้จากเรือประมงแต่ละลำและขนถ่ายไปที่ชายฝั่ง
การขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลนี้ไม่เพียงแต่เอื้อให้เรือประมงทำหาปลาอย่างต่อเนื่องนานเป็นเดือนหรือเป็นปี หากยังเปิดให้มีการนำเอาสินค้าสัตว์น้ำที่จับอย่างถูกต้องและจับแบบผิดกฏหมายมารวมกัน นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการห้ามการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำในหลายๆ สถานการณ์ มากไปกว่านั้น มีความเป็นไปได้สูงที่เรือประมงซึ่งดำเนินการในทะเลเป็นเวลายาวนานจะเกี่ยวข้องกับการกดขี่ทารุณลูกเรือ รวมถึงการใช้แรงงานเยี่ยงทาส การเคลื่อนย้ายของกองเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยไปยังเขต ซายา เดอ มาฮา แบงก์ นั้น การมีเรือแม่เพื่อขนถ่ายสินค้าประมงจากทะเลอันห่างไกลมายังท่าเรือในประเทศไทยเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด
การใช้สัญญาน AIS จากเรือแม่ เราระบุตำแหน่งที่ถูกต้องแม่นยำให้กับเครื่องมือถ่ายภาพดาวเทียมของ DigitalGlobe ด้วยการที่รู้ว่ากองเรือประมงมักไม่ส่งสัญญาน AIS เมื่อทำกิจกรรมผิดกฏหมายเช่นการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล เราสนใจหาคำตอบว่าเราสามารถจับภาพเรือประมงที่ต้องสงสัยโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในบริเวณที่มีเรือแม่
เรือแม่ลำหนึ่งที่เราเลือกในการถ่ายภาพดาวเทียม เรือประมงไทยชื่อ ลีลาวดี บียอร์น เบิร์กแมน นักวิเคราะห์ของเรากล่าวว่า “ผมเห็นเรือลำนี้หยุดอยู่ที่ตอนเหนือสุดของเขต ซายา เดอ มาฮา แบงก์ มันเป็นตำแหน่งที่มีน้ำตื้นพอที่จะทิ้งสมอ” นอกจากนี้ บียอห์นยังได้บันทึกความน่าจะเป็นของการขนถ่ายสินค้าประมงกลางทะเลระหว่างเรือลีลาวดีและเรือไม่ทราบชื่อในปี 2558 เหตุการณ์นั้นมีการบันทึกโดยใช้ข้อมูล AIS โดยเป็นส่วนหนึ่งของ SkyTruth’s assistance การสืบสวนสอบสวนโดย สำนักข่าวเอพี เรื่องการค้ามนุษย์ในกองเรือประมงนอกน่านน้ำของไทย ไม่น่าแปลกใจที่มันยังเกิดขึ้นในน่านน้ำของปาปัวนิวกีนี
ภาพแรกของเรือลีลาวดี ณ เขต ซายา เดอ มาฮา แบงก์ ถ่ายในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ในภาพ เรือลีลาวดีเข้าเทียบกับเรือเติมน้ำมัน ชื่อ มหาชัย มารีนวัน การเติมน้ำมันกลางทะเลหรือ bunkering เป็นสิ่งจำเป็นประการหนึ่งของเรือประมงที่ทำการประมง ณ ที่ห่างไกลออกไปจากชายฝั่งประเทศของตนเป็นระยะเวลายาวนาน

เรือแม่(Reefer)ชื่อ ลีลาวดี (ลำใหญ่กว่า) เชื่อมกับเรือเติมน้ำมันชื่อ มหาชัย มารีนวัน (DigitalGlobe)
อีกเจ็ดวันต่อมา ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ดาวเทียมจับภาพเรือประมง 5 ลำ : เรือลีลาวดีกับเรือประมงอีกสองลำด้านข้าง และเรือประมงอีกลำที่โยงเข้ากับท้ายเรือมหาชัย มารีนวัน ในบรรดาเรือประมงทั้งสามลำ ไม่มีลำใดเลยที่แพร่สัญญาน AIS

เรือแม่(Reefer)ชื่อ ลีลาวดี กับเรือประมงไม่ระบุชื่ออีกสองลำขนาบข้าง ภาพถ่ายดาวเทียมโดย DigitalGlobe วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 (DigitalGlobe)

เรือมหาชัย มารีนวัน กับเรือประมงที่ไม่สามารถระบุได้ (DigitalGlobe)
นับตั้งแต่ที่เราเริ่มงานพุ่งเป้าการถ่ายภาพดาวเทียมไปที่เรือแม่ เราได้พบเจอกองเรือประมงเถื่อนในส่วนอื่นๆ ของมหาสมุทรอินเดียและแอตแลนติก ด้วยการใช้สัญญาน AIS เราสามารถเห็นภาพที่สมบูรณ์มากขึ้นว่ากองเรือประมงเหล่านี้ทำอะไรอยู่ ในกรณีของเรือลีลาวดี ข้อมูลจากการติดตามสัญญาน AIS ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ชี้ให้เห็นว่า เรือลำนี้เดินทางซ้ำไปมาระหว่างไทยและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของปาปัวนิวกีนีที่เรียกว่า The DogLeg อันเป็นเขตทะเลอันห่างไกลแห่งหนึ่งที่มีการติดตามตรวจสอบการประมงผิดกฎหมายที่แย่มาก
ข้อมูลของเราเปิดเผยว่า ในหลายๆ กรณี เรือประมงเดินทางข้ามน่านน้ำอินโดนีเซียไปยังเขต The DogLeg ซึ่งน่าจะเพื่อทำการขนถ่ายสินค้าประมงกลางทะเล ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 เรือลีลาวดีพบกับเรือประมงที่ไม่ทราบชื่อเป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยเรือลำดังกล่าวส่งสัญญาน AIS ที่ผิดปกติโดยไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะของเรือ
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 เรือทั้งสองลำพบกันอีกครั้ง ณ เขตซายา เดอ มาฮา แบงก์ โดยใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งระบุถึงความเป็นไปได้ที่มีการขนถ่ายสินค้าประมงกลางทะเล การพบกันของเรือสองลำนี้เกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากเราจับภาพเรือลีลาวดีกับเรือประมงเถื่อนอีกสองลำ และก่อนที่เรือลีลาวดีจะออกจากพื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซายา เดอ มาฮา แบงก์ กลับมายังท่าเรือในประเทศไทย

เส้นทางของเรือแม่(Reefer)ชื่อ ลีลาวดี (สีแดง)และเรือประมงไม่มีชื่อ (สีขาว) ที่พบกันในน่านน้ำปาปัวนิวกินีในเดือนกรกฏาคม 2558 และในเขตซายา เดอ มาฮา แบงก์ ในเดือนพฤศจิกายน 2559
บียอ์นกล่าวว่า “การที่เรือทั้งสองเจอกันที่ the Dogleg และได้ย้ายมาเจอกันอีกที่ซายา เดอ มาฮา แบงก์ นั้นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนรายงานของกรีนพีซ และที่น่าสนใจคือแบบแผนนี้คล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เราพบในการสืบสวนสอบสวนของสำนักข่าวเอพี โดยที่เรือแม่เหล่านี้เดินทางกลับไปกลับมาในจุดใดจุดหนึ่ง” ที่น่าตั้งเป็นข้อสังเกตคือ การพบกันของเรือลีลาวดีและเรือประมงไม่ระบุชื่อที่เกิดขึ้นในเขต the Dogleg ยังเป็นไปตามกรณีการขนย้ายสินค้าประมงกลางทะเลที่ถูกถ่ายภาพในพื้นที่เดียวกันโดย DigitalGlobe ภาพถ่ายดาวเทียมนั้นนำไปสู่ การจับกุมเรือแม่ Silver Sea 2 ซึ่งรับขนถ่ายสินค้าประมงจากเรือประมงที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสบนเรือ