เราเรียกอนุภาคของแข็งและของเหลวที่แขวนลอยอยู่ในบรรยากาศว่า “ละอองลอย(aerosol)” ตัวอย่างเช่น ฝุ่นที่ลอยมาตามกระแสลม เกลือทะเล เถ้าจากการระเบิดของภูเขาไฟ ควันไฟป่า และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ละอองลอยสามารถทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกอุ่นขึ้นหรือเย็นลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด ชนิดและตำแหน่งของมัน ละอองลอยช่วยทำให้เมฆก่อตัวหรือจำกัดการก่อตัวของเมฆ ละอองลอยบางชนิดมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หากรับเข้าไปในร่างกาย
แผนที่ด้านบนแสดงปริมาณเฉลี่ยรายเดือนของละอองลอยทั่วโลกจากข้อมูลการเก็บบันทึกโดยเครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) บนดาวเทียม Terra ของนาซา เราเรียกวิธีการวัดละอองลอยด้วยดาวเทียมว่าความลึกเชิงแสงของละอองลอย(aerosol optical thickness) การวัดอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าอนุภาคจะเปลี่ยนวิธีการที่บรรยากาศสะท้อนและดูดกลืนแสงที่ตามองเห็นและแสงอินฟาเรด ความลึกเชิงแสงที่น้อยกว่า 0.1 (สีเหลืองซีดสุด) นั้นสภาพท้องฟ้าจะโปร่งใสและมีความสามารถมองเห็นได้มากที่สุด ถ้าความลึกเชิงแสงเป็น 1 (สีน้ำตามเข้ม) สภาพท้องฟ้าจะขมุกขมัว
ปริมาณละอองลอยที่สูงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ในสถานที่ต่างๆ และช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปี ละอองลอยเกิดขึ้นมากในแถบอเมริกาใต้จากเดือนกรกฏาคมถึงกันยายน อันเนื่องมาจากการเตรียมพื้นที่และการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วทั้งลุ่มน้ำแอมะซอนและภูมิภาค Cerrado ในช่วงฤดูแล้ง ละอองลอยมีแบบแผนที่คล้ายคลึงในอเมริกากลางช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในแอฟริกาตอนกลางและใต้ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน
ในหลายกรณี ความเข้มข้นของละอองลอยไม่ได้เกี่ยวข้องกับไฟ เช่น จากเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของทุกปี ปริมาณละอองลอยเพิ่มขึ้นอย่างมากในแถบคาบสมุทรอาราเบียและทะเลโดยรอบอันเนื่องมาจากพายุฝุ่นทราย ปริมาณละอองลอยที่สูงมากขึ้นยังพบในแถบเชิงเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของอินเดียในบางเดือน และปกคลุมภาคตะวันออกของจีนในช่วงหลายเดือนอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์
View, download, or analyze more of these data from NASA Earth Observations (NEO): Aerosol Optical Depth