เคยได้ยินนักการเมืองไทยหลายคนพยายามอธิบายความแตกต่างของคำว่า “โลกร้อน” และ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เมื่อถูกชาวบ้านถาม คำอธิบายของท่านนักการเมืองทั้งหลายล้วนน่าผิดหวังเป็นอย่างมากถึงมากที่สุด เพราะเล่นประดิษฐ์กันขึ้นมาตามความเข้าใจของตนเอง เรามาดูกันว่าจริง ๆ แล้วคำสองคำนี้มันหมายความถึงอะไรกันแน่
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักวิจัยใช้คำว่า ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ (climatic change หรือ climate change) เมื่อเขียนถึงเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ยุคน้ำแข็ง เป็นต้น เป็นคำที่มีลักษณะปลายเปิดและยังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยจะอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงในอดีต ปัจจุบันและอนาคตจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ทั้งในระดับโลก ภูมิภาคและท้องถิ่น
เมื่อนักวิทยาศาสตร์เริ่มรับรู้ถึงผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดขึ้นจากมนุษย์ พวกเขาจึงจำเป็นต้องหาคำอธิบายให้มัน ในปี 1975 นักวิทยาศาสตร์ที่หอสังเกตการณ์ในนิวยอร์คตีพิมพ์ผลงานในวารสาร ‘ไซเอนส์’ (Science)’ เรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : เราอยู่ในช่วงของภาวะโลกร้อนหรือไม่’ จนกระทั่งต้นทศวรรษ 1980 คำว่า ‘ภาวะโลกร้อน (global warming)’ ที่ไม่มี a นำหน้า ก็มีการใช้มากขึ้นในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์
ขณะเดียวกัน คำว่า global change ก็อุบัติขึ้นมาโดยเป็นคำที่ใช้บรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ที่มนุษย์กระทำต่อโลก จนในช่วงปี 1988 คำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ แพร่หลายไปตามสื่อต่างๆ และกลายเป็นคำมาตรฐานที่ใช้ในกลุ่มสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป
ถึงแม้ว่าโลกโดยรวมนั้นจะร้อนขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็หลีกเลี่ยงใช้คำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ โดยนิยมใช้คำว่า global change หรือ global climate change มากกว่า เพราะเหตุว่า ภาวะโลกร้อนอาจถูกตีความไปในทางที่เห็นว่า ทุกๆ แห่งบนโลกร้อนขึ้นเหมือนกันหมด ในขณะที่ความจริงคือ มีบางพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเย็นลงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าโดยเฉลี่ยโลกจะร้อนขึ้น
นักการเมืองในสหรัฐอเมริกานำเอาคำว่า climate change มาใช้เพื่อกลบความจริงของสภาวะที่โลกร้อนขึ้น นายแฟรงค์ ลุนซ์ (Frank Luntz) ที่ปรึกษาและนักสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองในสหรัฐฯ ได้แนะนำลูกค้าของเขาว่า climate change ฟังแล้วไม่ค่อยน่าตกใจเหมือนกับ global warming แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผลออกมาเป็นไปในทางสนับสนุนว่า คำว่า global warming ทำให้คนเกิดความสนใจมากกว่าคำว่า climate change ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า
»»อ่านเพิ่มเติม อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก