พอได้มาทำงานที่กรีนพีซ ผมไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพม่า โดยเฉพาะเรื่องการเมืองของเขา ผมทึกทักเอาเองว่า ภายใต้ระบอบปกครองเผด็จการทหารแบบละมุน โอกาสที่ประชาธิปไตยจะลืมตาอ้าปากที่นั่นคงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า ประชาธิปไตยนั้นมิใช่เพียงแค่เรื่องการเลือกตั้ง

จะว่าไปแล้ว ทั้งๆ ที่ผมยึดหลัก “ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง” ผมเองก็ประเมินพลาดไปมากทีเดียว

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ผมไม่ใด้มีความเชี่ยวชาญเรื่องพม่าแต่ประการใด ความเห็นของผมต่อไปนี้มาจากการประสบการณ์จากการทำงานกับผู้คนต่างๆ ที่ผูกพันกับเรื่องราวของพม่า

1) ในทางภูมิศาสตร์ ผมรู้จักพม่าเพียงด้านเดียวคือพม่าทางด้านตะวันออกที่มีพรมแดนติดกับไทยยาวเหยียดกว่าพันกิโลเมตร ผมรู้จักแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย แม่น้ำเงาและระบบนิเวศอินโด-พม่าที่มีลักษณะเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่คุณวีระศักดิ์ ยอดระบำ นักเขียนสารคดีคนโปรดของผมพาไปแนะนำให้รู้จัก ผมรู้จัก “ปลาตูหนา” หรือ “ปลาไหลหูดำ” (ชนเผ่ากระเหรี่ยงเรียกว่า “หย่าที”) ซึ่งเป็นปลาที่อพยพขึ้นลงไปวางไข่ตรงชะวากทะเลที่ซึ่งแม่น้ำสาละวินมาบรรจบกับอ่าวเมาะตะมะ ที่สำคัญคือผมไม่เคยเดินทางไปถึงใจกลางของพม่า ดังนั้นผมจึงรู้จักพม่าเพียงด้านเดียวในทางภูมิศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ คนไทยหลายคนจึง “งง” เมื่อเจอเรื่องราวของ “ชนเผ่าโรฮิงยา” ที่เป็นประเด็นร้อนในเรื่องสิทธิมนุษยชนของอาเซียนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยรู้เพราะว่าพวกเขามาจากอีกฟากหนึ่งของพม่าซึ่งมีพรมแดนติดบังคลาเทศและอินเดีย

2) ในทางประวัติศาสตร์ ผมถูกสอนในเรียนรู้เรื่อง “ไทยรบพม่า” และกว่าจะรู้เรื่อง “พม่ารบไทย” ก็ตอนโตแล้ว นี่ยังไม่นับถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยที่ไม่ถูกบันทึกและลืมเลือนไปท่ามกลางกาลเวลา

3) ในทางเศรษฐกิจ ผมได้แต่อ่านหนังสือของอีเอฟชูมาร์กเกอร์เรื่อง “small is beautiful” ที่ได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตในพม่าของผู้เขียนในฐานะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของจักรวรรดิอังกฤษที่เข้ายึกครองพม่าอยู่นานนับทศวรรษ แต่ในมุมมองของกระแสทุนนิยมอันเชี่ยวกราก พม่าถูกมองเป็น “ว่าที่ดาวรุ่งเศรษฐกิจ” ของอาเซียน หากการเลือกตั้งซ่อมเป็นไปตามการคาดการณ์ ก็ช่วยเปิดประตูบานใหญ่ให้กับการลงทุนจากต่างประเทศ จะว่าไปแล้ว โครงการลงทุนขนาดใหญ่ก็เริ่มต้นไปแล้ว เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บริเวณทวาย เป็นต้น

เราก็ต้องมาดูกันว่า โครงการลงทุนใหญ่ๆ จะนำไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนพม่าทั้งหลายได้มากน้อยเพียงใด หรือผลประโยชน์เหล่านั้นจะตกอยู่ในกระเป๋าเงินของคนไม่กี่กลุ่มที่กุมอำนาจและบังเหียนทางเศรษฐกิจ

มีครั้งหนึ่งผมนั่งรถแท็กซี่ และคุยกับคนขับเรื่องน้ำมันแพง คนขับบอกว่า ใช้ก๊าซ LPG ดีกว่า NGV เพราะว่าถ้าท่อก๊าซธรรมชาติจากพม่ามีปัญหา ก๊าซ NGV ก็จะขาดแคลน รถที่ใช้ก๊าซ NGV ก็จะมีปัญหา นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมไม่รู้ แต่คนขับรถแท็กซี่รู้และสามารถโยงเรื่องของตัวเองเข้ากับประเด็นของเพื่อนบ้านได้ดี

4) ในทางการเมืองในพม่า ผมรู้น้อยมาก ได้แต่ติดตามข่าวสารและบทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ หนังสือที่ผมอ่านคือ “Freedom From Fear” ของอองซานซูจี เป็นเล่มเดียวที่ทำให้ผมพอเข้าใจ “สัจธรรม” ในทางการเมือง และก็ขอยกมาหนึ่งวรรคสั้น ๆ ที่ว่า  “It is not power that corrupts but fear”

มากกว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในพม่า มากกว่าแรงกดดันของโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในอาเซียน สิ่งที่เราควรจะเรียนรู้มากที่สุดคือ “ความเป็นอิสระจากความกลัว” เพื่อให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง