แต่ไหนแต่ไรมา ถึงแม้ว่าภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนจะมีเรื่องถกเถียงมากบ้างน้อยบ้าง รับได้บ้างไม่ได้บ้าง ในเรื่องของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA) ซึ่งต่อมาได้ผนวกประเด็นด้านสุขภาพเข้าไปกลายเป็น EHIA แต่อย่างน้อยที่สุด สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ก็ไม่เคยตกต่ำถึงขั้นสาหัสเช่นนี้

ดูง่าย ๆ จากคำพูดของนายสันติ บุญประดับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ออกมารับหนังสือหนังสือคัดค้านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ว่า

“เราทำรายงานเพื่อบอกว่า ดีหรือไม่ดีเท่านั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี”

(แ-่ง ตอบได้ทุเรศดีมาก)

ฉะนั้นไม่แปลก ที่เราจะได้ยินชื่อเรียก “EHIA” ใหม่ว่า “อีเ-ี้ย”

ถือเป็นคำไม่สุภาพอย่างมาก แต่ก็สอดคล้องกับเกียรติภูมิที่ตกต่ำของ สผ. ได้เป็นอย่างดี

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเรียนรู้ “หลักการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” จากตำราคลาสสิกของอาจารย์ ดร. นาท ตัณฑวิรุฬห์ ปรมาจารย์ผู้วางรากฐานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ของประเทศไทย ผมจำได้ว่าตำราเล่มนี้ (ซึ่งผมเก็บไว้ในลังเก็บหนังสือและตอนนี้ยังหาไม่เจอ อาจสูญหายไประหว่างการเดินทาง) เขียนถึง Earth Summit ครั้งแรกของโลกที่จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดนในปี 2515 (UN Conference on the Human Environment 1972) ตำราเล่มนี้ยังพูดถึงเครื่องมือที่นำมาใช้ในการตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ นั่นคือ Cost-Benefit  Analysis กล่าวง่าย ๆ คือถ้าได้ไม่คุ้มเสีย ก็มีความจำเป็นต้องหาทางเลือกใหม่

และถ้าจะกล่าวให้ชัดลงไป นี่คือพื้นฐานของ “หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precuationary Principle)” ซึ่งบรรจุอยู่เป็นสาระสำคัญของอนุสัญญาและกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศหลายฉบับที่กล่าวไว้ว่า “กิจกรรมที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจะต้องมีการจำกัดหรือห้าม ดำเนินการ ถึงแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นสาเหตุดังกล่าวก็ตาม เนื่องจากหากรอให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนเทคนิคการวิเคราะห์พัฒนาที่จะ ทำให้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้ว ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอาจจะสายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ หลักการนี้จึงให้โอกาสในการควบคุมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างเนิ่นๆ”

ตามหลักทางวิชาการแล้ว การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมามากที่สุด แต่เป็นเพราะว่าโครงการพัฒนาทั้งหลายนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับผลประโยชน์ทางการเมือง

เมื่อการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจของโครงสร้างส่วนบนในสังคม และเมื่อผู้ที่ถือหลักวิชาได้เข้าอิงแอบกับการเมืองซึ่งถือเอาเป็นผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นใหญ่ผนวกกับ “อำนาจเงิน” เรื่องนี้จึงกลายเป็นหนึ่งของศูนย์กลางความขัดแย้งทางสิ่งแวดล้อมสืบเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายปีในสังคมไทย

ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงค่อย ๆ หมดไป

คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรให้สัมภาษณ์ได้ชัดเจนในประเด็น EHIA เขื่อนแม่วงศ์ว่า “วิชาการถูกใช้ไปหมดแล้ว สมองถูกใช้ไปหมดแล้ว และที่นี่ (หมายถึงที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)ก็ไม่มีสมอง เราจึงต้องใช้เท้าเพื่อให้ข้อมูลและระดมพลังจากสาธารณะชน”

การที่คุณศศิน เฉลิมลาภและนักอนุรักษ์หลายท่านเดินเท้าจากแม่วงศ์เข้ากรุงเทพฯ ณ เวลานี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการแสดงออกต่อสังคมไทย ว่ากระบวนการจัดทำ EHIA ไม่ว่าจะเป็นโครงการเขื่อน หรือโครงการพลังงานขนาดใหญ่ เช่น ถ่านหิน เป็นต้นนั้น หมดความชอบธรรมและเสื่อมไปพร้อมๆ กับเกียรติภูมิที่มีอยู่ของหน่วยงานที่พอจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้บ้างในอดีตที่ผ่านมา

และน่าเป็นจุดหนึ่งแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีขึ้น ในเวลาอีกไม่นาน