โดย สุรีรัตน์  แต้ชูตระกูล – กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก

8 กันยายน 2555 เวลา 9.00น จากการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีรัฐบาลของกระทรวงพลังงานนำโดยนายอารักษ์  ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีพลังงานประกาศประสบความสำเร็จ ในการทำแผนพัฒนาไฟฟ้า(พีดีพี) 20ปีโดยการใช้พลังงานทดแทนและแผนอนุรักษ์พลังงานเพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้า ในการรองรับการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าอีก20ปีข้างหน้านั้น

จากการเปิดเผยต่อสื่อมวลชนของนางสาวสุรีรัตน์  แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของกฟผ.ในประเด็นดังกล่าวว่า “ประชาชนต้องรู้เท่าทันการแสดงละครของนักการเมือง การประเมิลผลนโยบายควรยึดหลักความจริงและผลประโยชน์โดยรวมของสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาด”

กระบวนการทำแผนพีดีพี2010ปรับปรุงครั้งที่3ที่ต้องใช้20ปี มีเวลาฟังความเห็นประชาชน 1ชั่วโมง 45นาที  ซึ่งใช้เวลาสั้นมาก และทำเวทีเดียวในกทม. ก็รีบชง รีบอนุมัติเพื่อจะให้บรรลุเป้าเปิดประมูลสัมปทานโรงไฟฟ้าเอกชน 7โรงให้ทันเวลาของรัฐบาลชุดนี้

ในแง่การบริหารระบบ เดือนเมษาที่ผ่านมา  ช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ กฟผ.ได้ไฟเขียวทำแผนปิดซ่อมโรงไฟฟ้าไป 3,000 เมกะวัตต์ทั้งๆทีหลีกเลี่ยงได้ ถือว่าเป็นการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ไฟฟ้าสำรองที่พึ่งพาได้ต่ำกว่าเป็นจริง เพื่อใช้อ้างเหตุผลในการเร่งลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซใหม่โดยไม่จำเป็น

สำหรับเรื่องแผนอนุรักษ์พลังงาน  รัฐบาลชุดนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ออกนโยบายผ่านมติคณะรัฐมนตรี กำหนดเป้าหมายให้ทำแผนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปสู่การลดความต้องการใช้ไฟฟ้า 17,500 เมกกะวัตต์(เทียบเท่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 22โรง)ในรอบ 20ปี  ต้องถือว่าเป็นนโยบายชิ้นโบว์แดง

แต่เวลานำนโยบายไปสู่การปฏิบัติคือการทำแผนพัฒนาไฟฟ้า(พีดีพี)นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กลับชงแผนพีดีพี ที่กำหนดเป้าหมายการทำแผนอนุรักษ์พลังงานเพียง 20% หรือ 3,500 เมกะวัตต์ใน 20ปี   ให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานชาติอนุมัติผ่าน ก็ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้สอบตกในขั้นการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

หากรัฐบาลใส่ใจ จริงใจ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไฟฟ้าด้านดีมานด์ ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนอนุรักษ์พลังงานให้บรรลุเป้าหมายปีละ 875 เมกะวัตต์  จะทำให้ค่าไฟฟ้าตามคาดหมายในปี2573 ลดลง 22%  ทันที เพราะใช้เม็ดเงินลงทุนต่ำกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทุกชนิดเชื้อเพลิง ไม่ต้องไปเสียเงินลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ. 4โรง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2โรงและโรงไฟฟ้าก๊าซของเอกชนอีก 7 โรง ประเทศไทยก็มีไฟฟ้าพอใช้  แถมยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้อย่างยั่งยืน

ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้แผนอนุรักษ์พลังงานป็นทางเลือกแรกในการวางแผนพีดีพีและต้องทำให้มากสุด  แต่รัฐบาลไทยกลับทำตรงข้ามคือใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายและทำให้น้อยที่สุด เราเห็นว่าที่เป็นกันแบบนี้เพราะระบบที่เอื้อให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานและกฟผ.ที่ต้องรับผิดชอบทำแผนพีดีพี ไปนั่งเป็นบอร์ดของบริษัทค้าพลังงาน คนเดียวแบบสวมหมวก 2ใบ  ก็มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน คำนึงถึงการสร้างกำไรให้กลุ่มทุนค้าพลังงานอย่างยั่งยืนมากกว่าผลประโยชน์โดยรวมของสังคม