หากโลกนี้เป็นดังละคร ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาในสังคมไทย ตัวละครอันโดดเด่นที่มีบทบาทสำคัญบนเวทีแห่งวาทกรรมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจำเป็นต้องนับเอา “ปลอดประสพ สุรัสวดี” เข้าไปด้วย
ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ คุณปลอดประสพนั้นเฉกเช่นเดียวกับชนชั้นนำคนอื่นๆ ที่ได้รับการปลูกฝังและมีโอกาสในการศึกษาในระดับสูง (จบปริญญาเอกนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยมานิโตบาในแคนาดา) และต่อมาได้รับราชการมีตำแหน่งระดับสูงเป็นผู้บริหารกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหลังจากนั้นก็โลดแล่นในเวทีการเมืองจากพรรคพลังประชาชนมาจนถึงพรรคเพื่อไทย
คุณปลอดประสพเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติโดยรับผิดชอบในแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวทางทะเลของไทยภายหลังภัยพิบัติคลื่นสึนามิ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) ซึ่งไม่มีใครรู้มากนักว่าหน่วยงานที่ว่านี้ทำอะไร แย่างไรบ้าง และเป็นผู้ก่อตั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีอันอื้อฉาว นอกเหนือจากเรื่องที่อื้อฉาวกว่าในการส่งออกเสือไปประเทศจีน
บทบาทหน้าที่ในส่วนที่เป็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในส่วนที่เป็น “การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม” ของคุณปลอดประสพเหล่านี้แหละที่สร้างสีสันให้กับวาทกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างถึงพริกถึงขิง
เมื่อคลุกคลีอยู่วงการสิ่งแวดล้อมฝ่ายประชาชนมานาน ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเผชิญกับคุณปลอดประสบ
ครั้งแรกเป็นช่วงที่ผมทำงานที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ (Wildlife Fund of Thailand) ในขณะที่ทำงานภาคสนามกรณีไฟไหม้พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาสในปี พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นไฟไหม้ป่าพรุครั้งใหญ่ของประเทศไทย เกิดขึ้นในระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของปี 2541 ป่าพรุโต๊ะแดงเสียหายไปถึง 14,837 ไร่ ใช้ระยะเวลาเกือบสองเดือนและเสียงบประมาณไปจำนวนหลายล้านบาทกว่าที่จะควบคุมไฟเอาไว้ได้ ตอนนั้นคุณปลอดประสบดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้และพวกเราก็โต้แย้งกับปลอดประสพเรื่องแนวทางการจัดการป่าพรุอย่างยั่งยืน
เราทำรายงานภาคสนามเรื่องการจัดการพื้นที่ป่าพรุที่ผิดพลาดโดยเฉพาะเรื่องการดึงน้ำออกจากพรุจนทำให้ดินพรุแห้งกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ส่วนหนึ่งของป่าพรุที่เสียหายจากไฟโดยเฉพาะบริเวณรอบนอกก็บุกรุกกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ต้องขอกล่าวในที่นี้ว่าระบบนิเวศป่าพรุ(Peat Swamp Forest) ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยนั้นมีเหลืออยู่ไม่มาก และป่าพรุโต๊ะแดงนี้แหละที่โด่นเด่นเป็นสง่าที่สุด
ปลอดประสพเล่นการเมืองในปี พ.ศ.2550 เป็นช่วงนับถอยหลังการใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้ามาทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนรัฐบาลชุด”ขิงแก่” ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) แน่นอนว่าพรรคการเมืองต่างขับเคี่ยวหาเสียงกันแบบเอาเป็นเอาตายโดยเฉพาะ “นโยบายประชานิยมแบบลด แลก แจก แถม สะบัดช่อ” ซึ่งทุกพรรคการเมืองทั้งเก่าใหม่ ต่างหยิบยกมาเป็น “ไม้เด็ด” หวังพิชิตใจคนไทยให้เลือกพรรคเข้ามาบริหารประเทศ
ในฐานะตัวแทนของกรีนพีซ ผมเข้าสัมภาษณ์คุณปลอดประสพซึ่งลงเป็นผู้สมัคร สส. ระบบสัดส่วนและที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 (นอกเหนือจากพรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา) นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น(ร่างโดยนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค) ระบุว่า “ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาลซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดและไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ตลอดทั้งการจัดลำดับความสำคัญของการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ กรณีการสร้างมูลค่าเพิ่มจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอันก่อให้เกิดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบหากนำมาใช้ ตลอดจนการสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจการสร้าง Brand การสร้างเครือข่ายการตลาดที่มีประสิทธิภาพ”
การสัมภาษณ์ปลอดประสพในครั้งนั้นทำให้ผมตระหนักดีกว่า บุคลิกภาพนี้แหละที่จะเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่โลดแล่นในเวทีปะทะประสานเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายข้างต้นซึ่งส่งผ่านจากพรรคพลังประชาชนมาสู่พรรคเพื่อไทยในที่สุด
ท่วงทำนองของคุณปลอดประสพที่เริ่มให้สัมภาษณ์โดยการชิงถามชื่อเสียงเรียงนามและพื้นฐานการศึกษาของผมและทีมงานที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์ และหลังจากนั้นก็ยังบอกตรงๆ ว่า “ผมไม่ชอบเอ็นจีโอ และเอ็นจีโอก็ชอบด่าผม จริงๆ แล้วผมเป็นคนที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง คุณก็รู้นี่”
ความเก๋าของคุณปลอดประสพในการตอบคำถามซึ่งมีอยู่หลายครั้งจะพูดถึงประสบการณ์ ความเก่งกาจของตนเองจากการเป็นผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสำคัญ ทำให้เราหวั่นใจกับ “ปากเก่ง” ของคุณปลอดประสพอยู่ไม่น้อย แต่อาศัยความมุ่งมั่นของเรา การสัมภาษณ์ก็ดำเนินไปและจบลงด้วยดี
การสัมภาษณ์ ดร ปลอดประสพและตัวแทนของพรรคการเมืองหลักอีกสองสามพรรค ผมสรุปว่า แม้ว่าปากของพวกเขา(รวมถึงปลอดประสพ)จะพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฎิบัติแล้ว นโยบายเศรษฐกิจนั้นเป็นจุดหลักในการหาเสียง เมื่อมาถึงเรื่องตัวเลขการลงทุนและผลประโยชน์เศรษฐกิจซึ่งมุ่งเน้นการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซ้ำร้ายยังสามารถนำเอาโครงการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมมาทำให้เป็นตัวเงินเข้ากระเป๋าตนเองได้อีกด้วย
เมื่อพิจารณาถึงอำนาจอิทธิพลของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงแต่ครอบงำพรรคการเมืองไทย หากแต่ยังมีอิทธิพลเหนือรัฐ ไม่ว่าพรรคการเมืองใดที่ได้เป็นรัฐบาล ก็ไม่อาจดำเนินนโยบายหรือการปฎิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนดังกล่าวได้
ดังนั้น การให้สัมภาษณ์สื่อของคุณปลอดประสพที่ยืนยัน นั่งยันและนอนยันว่า ยังไงก็จะสร้างเขื่อนแม่วงศ์ให้ได้เพราะถ้าน้ำท่วม คนไทยและประเทศไทยอยู่ไม่ได้ นั้นจึงเป็นวาทะทางการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อึ้ง ทึ่ง เสียวอย่างยิ่ง นอกจากเหนือจากเป็นวาทกรรมชั้นยอดที่ใช้ประเทศไทยเป็นตัวประกันและเป็นอีแอบอยู่ข้างหลัง “คนจน” (Hiding Behind the Poor) แล้วยังเป็นวาทะที่เรียกแขกได้อย่างยอดเยี่ยม กลายมาเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งใหม่ล่าสุดที่เกิดจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เดินเท้าออกจากอุทธยานแห่งชาติแม่วงศ์
สังคมกำลังเฝ้ารอที่จะได้ยิน วาทะอึ้ง ทึ่ง เสียว ของจากปากคุณปลอดประสพอีกครั้งและเมื่อนั้นสถานการณ์อาจจะถึงจุดพลิกผันไปในจุดที่ตัวละครอันโดดเด่นที่ชื่อ “ปลอดประสพ” อาจตกจากเวทีปะทะประสานด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้ ใครจะรู้!