ธันวาคม 2547 ชาวกรุงปักกิ่งได้รับคำเตือนจากทางการให้อยู่ในอาคารบ้านเรือน หรือหากจำเป็นต้องออกนอกบ้านก็ควรใส่หน้ากากป้องกันมลพิษ มลพิษทางอากาศที่รุนแรงได้ปกคลุมเขตเมืองปักกิ่งเป็นเวลา 3 วัน การขาดแคลนด้านพลังงานได้มาถึงจุดวิกฤต จีนได้ทำการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นอย่างขนานใหญ่ สวนทางกับการปรับปรุงและควบคุมคุณภาพอากาศที่มีการดำเนินการมาหลายปี
ข้อมูลจากการศึกษาครั้งใหม่ โดยองค์กรการประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อมแห่งเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า ในปี 2549 จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก คิดเป็นปริมาณ 6,200 ล้านตัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก ปล่อยก๊าซออกมาในปริมาณ 5,800 ล้านตัน ในปีเดียวกัน แต่ความรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันมหาศาลนี้ มิใช่เฉพาะจีนเท่านั้น แต่หากรวมถึงกรุงวอชิงตัน บรัสเซลล์ และโตเกียวด้วย
สาเหตุหนึ่งของเรื่องนี้คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศตะวันตกได้ส่งออกกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมจำนวนมากไปยังจีน โดยไม่มีการติดตามด้านสิ่งแวดล้อมของการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว สิ่งเดียวที่บรรษัทข้ามชาติสนใจ คือ เรื่องค่าแรง ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีราคาถูกลง และปล่อยภาระต้นทุนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันมหาศาลให้กับจีน ในระยะยาว นโยบายนี้ถือเป็นอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศ และเป็นด้านกลับของโลกาภิวัฒน์
ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานขั้นปฐมภูมิของจีน คิดเป็นประมาณร้อยละ 69 ของแหล่งผลิตพลังงานทั้งหมดในประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 42 จีนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อต้องเผชิญกับผลกระทบอันรุนแรงจากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่น การขยายตัวของทะเลทราย และการละลายของธารน้ำแข็ง มีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาสังคมให้รัฐบาลจีนมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อตัดการพัฒนาเศรษฐกิจจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
การพิจารณาว่าประเทศใดจะต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความซับซ้อนมากกว่าการหาปริมาณเชื้อเพลิงฟอสซิลที่แต่ละประเทศเผาไหม้ในแต่ละปี เหตุผลอย่างแรกคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของประเทศอาจมีมาก แม้ว่าการปล่อยต่อหัวประชากรจะดูน้อยมาก ดังเช่นกรณีของประเทศจีน นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตที่ผ่านมา (ก่อนช่วงที่ภาวะโลกร้อนยังไม่อยู่ในกระแสความสนใจ) ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังคงอยู่ในบรรยากาศ
หากพิจารณาการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากร สหรัฐอเมริกายังคงนำมาในอันดับหนึ่ง ส่วนจีน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรเท่ากับ 3.5 ตัน ในขณะที่สหราชอาณาจักรนั้นเป็นเกือบ 10 ตัน และชาวอเมริกาเหนือเท่ากับ 20 ตัน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G8 นั้นมีส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราประสบในปัจจุบัน และยังคงปล่อยก๊าซออกมามากกว่าร้อยละ 40 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หากเราต้องการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ทุกๆ คน ต้องช่วยกัน ประเทศจีนต้องมีนโยบายที่ดี ประเทศตะวันตกมีเทคโนโลยี และนำมาร่วมมือกัน เราต้องตรวจสอบแบบแผนการบริโภคซึ่งขึ้นอยู่กับสินค้าราคาถูกจากจีนที่ผลิตในโรงงานที่ใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างมาก
ในเรื่องการใช้ที่ดินและภูมิทัศน์ของแต่ละประเทศเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย เช่น กรณีของบราซิลและอินโดนีเซีย หากเราเพิ่มผลกระทบจากการทำลายป่าเข้าไปด้วย ทั้งสองประเทศนี้จะต้องขยับขึ้นมาเป็นประเทศลำดับเกือบต้นๆ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยทีเดียว