ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อจีนอย่างรุนแรง ธารน้ำแข็งในทิเบตที่ละลายอย่างรวดเร็วจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดบางสาย เช่น แม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซีเกียงต่ำลงถึงขั้นอันตราย ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อบริเวณชายฝั่งของประเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองและมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดของจีน ประชาชนมากกว่า 400 ล้านคนในจีนกำลังประสบกับปัญหาพื้นที่แปรเปลี่ยนเป็นทะเลทราย (desertification) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมและผลผลิตทางอาหาร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ คือ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารของจีนในปัจจุบันและที่จะมีต่อไปในอนาคต ปรากฏการณ์รุนแรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุไซโคลนและพายุเขตร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และธารน้ำแข็งก็ละลายเร็วขึ้นๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำในประเทศ และยังทำให้ความเสี่ยงที่ทะเลสาบธารน้ำแข็ง (glacial lakes) จะแตกมีมากขึ้น

ในเดือนมิถุนายนปี 2007 จีนได้ริเริ่มแผนงานว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ แผนงานนั้นครอบคลุมถึงยุทธวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทางเลือกใหม่ในการตอบสนองความต้องการพลังงานที่มหาศาลและยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งวิธีจัดการกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุดในภายภาคหน้า  นอกจากนี้ องค์กรประชาสังคมในจีนยังได้เตรียมการรายงานเพื่อพัฒนาพันธะหน้าที่และการมีส่วนร่วมของทางองค์กรในการต่อกรกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

เกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม

บันทึกข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาแสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำฝนในจีนโดยรวมลดลงตั้งแต่ปี 1965 แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มจะทำให้ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7-10 โดยเฉพาะในตอนใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ หากค่าเฉลี่ยนี้ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ผิดไป เนื่องจากในขณะเดียวกัน การขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรกรรมของจีนมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคทางเหนือซึ่งเกิดภัยแล้งอยู่ทั่วไป สภาพภูมิอากาศจะแปรปรวนมากขึ้นทำให้ในบางครั้ง ฝนไม่ตกในช่วงเวลาที่พืชผลต้องการน้ำมากที่สุด นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังเร่งการระเหยของน้ำอีกด้วย

ล่าสุด ปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะตกแบบไม่สมดุล กล่าวคือ บางพื้นที่จะได้รับน้ำฝนปริมาณมาก และบางครั้งอาจมากเกินไปจนทำให้เกิดน้ำท่วม ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ยังต้องประสบภัยแล้ง

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมบางอย่างจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่รุนแรงนัก อย่างเช่น ดอกไม้ผลิบานเร็วขึ้นกว่าเมื่อก่อนสองถึงสี่วันในฤดูใบไม้ผลิ แต่ผลกระทบอื่นๆ อย่างเช่นผลที่มีต่อภาคเกษตรกรรม อาจส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจและปัจจัยการดำรงชีวิตในท้องถิ่น

รายงานการประเมินระดับชาติว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ( climate National Assessment Report) ฉบับล่าสุด ซึ่งจัดพิมพ์โดยรัฐบาลจีน ประมาณการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลเสียต่อผลผลิตทางเกษตรของประเทศจีนอยู่ในตอนนี้ หากเราไม่ลงมือกระทำการใดๆ  ความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตรของจีนจะลดลงร้อยละ 5 ถึง 10  เมื่อถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ ผลผลิตพืชผลหลักสามชนิด ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด อาจตกต่ำลงถึงร้อยละ 37 ในอีก 20 ถึง 50 ปีต่อจากนี้ ผลกระทบมหาศาลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเกษตรกรรมจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของจีน

ในอดีต ชาวบ้านรู้ว่าควรหว่านเมล็ดพันธุ์พืชเมื่อไรจึงจะได้พืชผลที่แข็งแรง เนื่องจากฝนยังตกต้องตามฤดูกาล แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้สภาพอากาศแปรปรวนยิ่งขึ้น ทำให้ในบางครั้งเกิดภัยแล้งในเวลาที่เกษตรกรต้องการให้ฝนตก ฤดูหนาวที่อากาศอุ่นในปี 2007 ช่วยเร่งการเพาะตัวและการเจริญเติบโตของข้าวสาลีฤดูหนาว แต่ก็ทำให้ข้าวเหล่านี้เปราะบางต่อน้ำค้างแข็งในฤดูใบไม้ผลิ ในภูมิภาคทางใต้ น้ำเคยอุดมสมบูรณ์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รูปแบบฝนที่ไม่สม่ำเสมอและความร้อนทำให้น้ำขาดแคลน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการผลิตทางการเกษตรยังเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความจำเป็นต้องควบคุมศัตรูพืชและวัชพืชซึ่งมากับอุณหภูมิที่สูงขึ้นมากขึ้น

เพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรกรรม ทางรัฐบาลและกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ในจีนกำลังพยายามพัฒนายุทธวิธีการปรับตัวใหม่ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาและนำไปใช้ให้เป็นผลสำเร็จ ยุทธวิธีเหล่านี้ ได้แก่ การส่งเสริมการเพาะปลูกที่สามารถต้านภัยแล้งได้ดี แหล่งพลังงานสะอาดในพื้นที่ชนบท เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซชีวภาพ โครงการอนุรักษ์น้ำ และระบบรดน้ำแบบหยด (dripping irrigation systems) แม้ว่าจะมีความพยายามเช่นนี้ ชุมชนชายขอบที่ยากจนตามชนบทก็ยังคงถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น