นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) บนดาวเทียม Terra ขององค์การนาซาได้ทำการวัดแบบแผนของละอองลอย(aerosols) ซึ่งหมายถึงอนุภาคขนาดเล็กแขวนลอยในอากาศ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงอิทธิพลอันสลับซับซ้อนที่ “ละอองลอย” มีต่อภูมิอากาศโลก แผนที่โลกเปรียบเทียบให้เห็นแบบแผนการกระจายตัวของละอองลอยทั่วโลกในช่วงปี 2543-2550 (ภาพบน) และค่าเฉลี่ยของละอองลอยในปี 2550(ภาพด้านล่าง)
แผนที่บนแสดงความหนา(ทึบแสง)ของละอองลอย จากสีเหลืองซึ่งหมายถึงทึบแสงน้อย ไปหาสีแดงเข้มซึ่งหมายถึงทึบแสงมาก ความหนา(ทึบแสง) บ่งบอกถึงว่า ละอองลอยจะป้องกันมิให้แสงผ่านออกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้มากน้อยเท่าใด
แบบแผนของละอองลอย(aerosol patterns) ที่แสดงนี้เป็นผลมาจากทั้งกิจกรรมของมนุษย์และธรรมชาติ ในกรณีทางตอนเหนือของแอฟริกา ด้านตะวันออกของจีนและภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นเป็นเรื่องของพายุฝุ่น ที่สำคัญโรงไฟฟ้าถ่านหินและยานยนต์ของจีนก่อให้เกิดละอองลอยปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนทางตอนเหนือและตอนกลางของแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย อเมริกากลางและใต้ จะเป็นเรื่องของฤดูกาลเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ส่วนทางตอนเหนือของอเมริกาตะวันตก ละอองลอยมาจากไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์และธรรมชาติ ส่วนทางตอนเหนือของแอนตาร์ติก กระแสลมที่ไม่เคยหยุดพัดนำพาเอาละอองเกลือทะเลขึ้นสู่บรรยากาศ
แผนที่ด้านล่างแสดงค่าเฉลี่ยปี 2550 ที่ซึ่งมีละอองลอยเข้มข้นมากกว่าค่าเฉลี่ยจะเป็นสีแดง ส่วนที่ซึ่งมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าจะเป็นสีฟ้า การเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้นั้นมีความชัดเจนมากในปี 2550 ละอองฝุ่นควันจากลุ่มน้ำอะเมซอนแพร่กระจายลงไปทางตอนใต้สู่ชายฝั่งของอุรุกวัยและตอนเหนือของอาร์เจนตินา ละอองฝุ่นควันจากจีนตะวันออกก็มีความเข้มข้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน ส่วนอินเดียและเขตซาเฮลของแอฟริกาตะวันตกมีความเข้มข้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยแต่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับด้านตะวันออกของจีน
ในขณะที่ ละอองฝุ่นควันจากอินโดนีเซีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเกาะบอร์เนียวที่ซึ่งไฟจากป่าพรุส่งละอองฝุ่นควันเข้าปกคลุมท้องฟ้าในช่วงฤดูเผาไหม้) นั้นมีความเข้มข้นที่ไม่มากนัก เช่นเดียวกับพื้นที่แอฟริกาตอนกลาง ระดับของละอองลอยในเขตละติจูดสูงของป่าโบเรียลนั้นก็มีค่าต่ำ ชี้ให้เห็นว่า ปี 2550 นั้น มิใช่เป็นช่วงที่เกิดไฟป่าโบเรียลครั้งใหญ่